แอ่ว กาดบ้านทา ซื้อของป่ามาทำกิน

“กาด” เป็นภาษาชาวบ้านที่พูดกันติดปากในจังหวัดทางภาคเหนือ แต่หากจะพูดเป็นภาษากลางนั้น “กาด” หมายถึง “ตลาด” นั้นเอง ซึ่งตลาดนั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมของสินค้าทั้งสด และแห้ง ไม่เพียงแค่สินค้าที่สรรหามาให้ผู้บริโภคได้เลือกมากมายแล้ว ตลาดยังเปรียบเสมือนศูนย์รวมของคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของคนในชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับ “กาดบ้านทา” กาดเก่าแก่คู่ อ.แม่ทา จ. ลำพูน
ตลาดเกษตรดอยแก้ว หรือชาวบ้านรู้จักกันภายใต้ชื่อ “กาดบ้านทา” ตั้งอยู่หมู่ 12 บ้านดอยแก้ว ต.ทาสบเส้า อ.แม่ทา จ.ลำพูน เป็นตลาดที่ขึ้นชื่อเรื่องของป่า อาทิเห็ดป่า เห็ดตามฤดูกาลต่างๆ หน่อไม้ ผักชนิดต่างๆ จากป่าที่หากินยาก รวมถึงพืชผักที่ชาวบ้านเพาะปลูกก็ได้มีการมาวางจำหน่ายในกาดนี้ทุกวัน ซึ่งตลาดแห่งนี้ไม่มีความชัดเจนของเรื่องการก่อตั้งที่แน่นอน จากการสอบถามข้อมูลจากพ่อค่า – แม่ค้าในตลาดพบว่า แต่เดิมที่บริเวณนี้จะเป็นทางผ่านของชาวบ้านละแวกนี้ที่เข้าไปหาของป่ามาเพื่อรับประทาน แล้วได้เดินเลาะริมทางถนนเส้นทางสายเชียงใหม่-ลำปาง แถวบริเวณที่ตั้งของตลาด พอมีชาวบ้านผ่านที่เดิมทุกวันๆ คนที่ขับรถผ่านไป-มา ก็เริ่มมีจอดถามเพื่อต้องการซื้อของผ่าเหล่านั้น พอเริ่มบ่อยมากขึ้นๆ ชาวบ้านบางส่วนมีการผูเสื่อนั่งขายของกัน ต่อมาก็ทำเป็นโต๊ะเล็กๆ ขายกันริมถนน คนที่ขับผ่านไปมาก็จอดซื้อของจำนวนเยอะขึ้นๆ ชาวบ้านเห็นว่าการวางขายแบบนี้สามารถนำเงินที่ได้ไปเลี้ยงครอบครัวได้ไม่มากก็น้อย ยิ่งนานวันยิ่งมีจำนวนพ่อค้า – แม่ค้าเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการขยายพื้นที่ และปรับปรุงอยู่เรื่อยมา จนกลายเป็นตลาดเกษตรดอยแก้วในปัจจุบัน
กาดบ้านทาจะมีลักษณะกาดพื้นบ้านมีโต๊ะ และหลังคาเป็นแบบหญ้าคามุงกันร้อน กันฝนได้ สินค้าเด่นๆจะเป็นของป่าที่หารับประทานได้ยาก เห็ดพื้นบ้านหรือเห็ดป่า อาทิ เห็ดถอบ เห็ดโคน ล้วนแต่เป็นเห็ดที่หายาก รสชาติอร่อย มีให้รับประทานเฉพาะตามฤดูกาล นอกจากเห็ดที่เป็นอาหารเด่นๆแล้ว ยังมีผักนานาชนิด อาทิ ผักหวาน ผักหละ ผักกาด มีตั้งแต่จานละ 10-30 บาท ราคากันเอง ไม่แพงมากนัก มีไก่เมืองหรือไก่บ้าน เนื้อปลา เนื้อวัว เนื้อหมู เรียกได้ว่ามาตลาดแห่งนี้ที่เดียวก็สามารถหาซื้อของได้ครบพร้อมทำอาหารที่บ้านได้เลย
“ ตราบใดที่อาหารยังคงเป็นสิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของคนให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ตลาด ก็ยังคงเป็นแหล่งอาหารที่ใหญ่ที่สุด และยังคงสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ดังนั้น หากมีตลาดประชาชนก็มีสถานที่จับจ่ายซื้อสินค้า ก่อให้เกิดการสร้างรายได้เลี้ยงปากท้องของชุมชนแห่งนี้ต่อไป”

ร่วมแสดงความคิดเห็น