แห่ไม้ค้ำศรี ไม้ค้ำโพธิ์ “วันพญาวัน”

ใน “วันพญาวัน” ของ “ปี๋ใหม่เมือง” บางท้องที่นิยมทาน “ไม้ค้ำศรี” (ออกเสียงว่าสะหลี) หรือ “ไม้ค้ำโพธิ์” กัน ซึ่งไม้ค้ำศรีจะเป็นไม้ง่าม อาจทำมาจากไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้ฉำฉา หรือไม้เนื้อแข็งแกะสลักสวยงาม พร้อมจะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียน และกระบอกไม้อ้อ หรือไม้ไผ่บรรจุน้ำ และทรายผูกติดกับไม้ง่ามไปด้วย โดยตรงบริเวณง่ามของไม้ก็จะมีหมอนรองไว้

ตามความเชื่อของชาวเหนือ จะเชื่อว่าการทานไม้ค้ำศรี จะหนุนค้ำจุนพระพุทธศาสนา ให้อยู่ยืนยาวตลอดไปตลอดห้าพันพระวัสส การทานไม้ค้ำศรีนี้ถือคติว่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการค้ำชูพระศาสนาให้ยาวนานต่อไป และเพื่อเป็นการสืบชะตา ค้ำอายุตัวเอง และเสริมศิริมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พร้อมกันนี้ในบางวัดมีต้นโพธิ์ใหญ่ มีกิ่งก้านสาขามากมาย ก็ได้โอกาสนี้ใช้ไม้ค้ำโพธิ์ยึดค้ำกิ่งก้านสาขาไว้ไม่ให้โน้มลงมาจนกิ่งหักได้
สำหรับต้นไม้ศรีหรือต้นโพธิ์ คือ ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับอาศัยร่มเงาในคืนที่ทรงพิจารณาสภาวธรรม และก่อนการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากหนังสือสังขยาโลก กล่าวถึงตำนานการค้ำโพธิ์ว่า “อดีตมีพระภิกษุรูปหนึ่งออกธุดงค์ในป่าลึก ระหว่างทางเห็นต้นไม้แห้งตายต้นหนึ่ง มีลำต้นสวยงาม คิดว่าจะนำต้นไม้ต้นนี้กลับไปที่วัดที่จำพรรษาอยู่ แต่ก็ได้มรณภาพไปเสียก่อน ด้วยเหตุนี้จิตจึงผูกพันกับต้นไม้นี้ จึงไปเกิดเป็นตุ๊กแกอยู่ในโพงไม้ต้นนี้ และตุ๊กแกได้ไปดลใจชาวบ้านให้รู้ว่าท่านเกิดเป็นตุ๊กแก และขอให้ชาวบ้านช่วยให้พ้นจากทุกข์ โดยการนำต้นไม้ต้นนี้ไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัด ตุ๊กแกจึงพ้นจากความทุกข์และไปเกิดเป็นมนุษย์ในภพต่อมา
ด้วยความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตำนานที่กล่าวมา ต้นโพธิ์จึงเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามตัดฟันโดยเด็ดขาด และมีข้อห้ามตัดไม้ศรี ปรากฏในความเชื่อเรื่องขึด เรียกว่า “รานศรี ชาวล้านนายังมักนำไม้ค้ำ สะพานเงิน สะพานคำ จากพิธีสืบชะตามาวางไว้บนค่าคบของต้นโพธิ์ เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีอายุยืนยาว”
ส่วน “ขบวนแห่ไม้ค้ำศรี” นั้น ขบวนแห่มีการประโคมโหมแห่ด้วยเครื่องแห่พื้นเมือง เช่น กลองมองเซิง กลองปู่เจ่ กลองสิ้งหม้อง เป็นต้น ในขบวนจะมีพ่อบ้านแม่บ้านถือช่อ (ธงสามเหลี่ยม) หมากสู่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นเทียน หาบหรืออุ้มสลุงบรรจุน้ำขมิ้นส้มปล่อย น้ำสุคันโธทกะ น้ำอบน้ำหอมซึ่งเป็นเครื่องสักการะ คนเฒ่าคนแก่ ผู้ชายตบมะผาบ วาดลายเชิงอวดกัน บ้างก็ฟ้อนดาบ ส่วนไม้ค้ำก็จะหามแห่หรือตกแต่งบนรถให้งดงาม พอขบวนถึงวัด ก็จะนำไม้ค้ำโพธิ์ขึ้นค้ำ โดยชายหนุ่มที่แข็งแรงจะช่วยกันดึงไม้ค้ำขึ้นค้ำต้นโพธิ์ เพราะไม้ค้ำแต่ละต้นต้นใหญ่มาก พอค้ำเสร็จก็นิมนต์พระมารับการถวายไม้ค้ำโพธิ์ จะมีการรดน้ำส้มปล่อยที่ตัวไม้ค้ำเพื่อขอขมาครัวทาน และรับพรจากพระเป็นอันเสร็จพิธี
ประเพณีแห่ไม้ค้ำศรี ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ก็ได้แก่ “ประเพณีแห่ไม้ค้ำศรีจอมทอง” ซึ่งชาวบ้านจะพากันตั้งขบวนแห่ไปค้ำต้นโพธิ์ยังวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร

ร่วมแสดงความคิดเห็น