“หนวกหู รำคาญ กวนประสาท” ยืงปืน จุดพลุ-ประทัดยักษ์ คืนสังขารล่อง ต้อนรับปี๋ใหม่ของชาวล้านนา

“หนวกหู รำคาญ กวนประสาท” ยืงปืน จุดพลุ-ประทัดยักษ์ คืนสังขารล่องต้อนรับปี๋ใหม่ของชาวล้านนา ตั้งแต่หลัง 24.00 น.เสียงดังสนั่นยันใกล้รุ่ง

นับถอยหลังเหลือเพียงไม่กี่วัน จะถึงเทศกาลสงกรานต์ หรือปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา ทางราชการได้กำหนดเป็นวันหยุด ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย.61 ซึ่งตามปฎิทินของทางราชการ วันสงกรานต์เริ่มตั้งแต่ วันที่ 13-15 เม.ย.ของทุกปี แต่ทางสภาวัฒนธรรม จ.เชียงใหม่ เองก็มีข้อเรียกร้องมาหลายปี ที่จะขอให้ทางราชการพิจารณาปรับเปลี่ยนวันเทศกาลมหาสงกรานต์ให้ตรงตามปฏิทินโหรหลวงและปฏิทินพื้นเมือง ซึ่งวันมหาสงกรานต์หรือวันสังขารล่องจากเดิมจะเป็นวันที่ 13 เม.ย.ก็เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 14 เม.ย.วันเนาว์ก็จะเป็นวันที่ 15 เม.ย.และวันพญาวันก็คือวันที่ 16 เม.ย.นั้น บางวัดก็เปลี่ยนตาม มีอีกหลายๆวัดยังยึดแบบเดิมแย้งว่า เปลี่ยนแปลงได้อย่างใด ประเพณีดั้งเดิมปฎิบัติกันอย่างนี้ จึงเป็นที่สับสนของชาวล้านนาว่า จะเอาอย่างไรกันแน่

อย่างไรก็ตามวันสังขารล่องจะเป็นวันที่ 13 เม.ย.ดังเดิม หรือเปลี่ยนเป็นวันที่ 14 เม.ย.ก็ตาม ที่แน่ๆชาวล้านนาก็คงยึดถือปฎิบัติหลัง 24.00 น.เป็นการต้อนรับเข้าสู่ศักราชใหม่ หรือวันสังขารล่อง มีการยิงปืน จุดพลุ-ประทัดยักษ์ และอื่นๆที่ทำให้มีเสียงดัง เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร ไหลล่องไปกับปู่สังขาน ย่าสังขาน ซึ่งจะแบกรับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในชีวิตไปเททิ้งที่มหาสมุทร การไล่ สังขารด้วยเสียงประทัดหรือสะโปกที่ดังแต่เช้าตรู่ จึงทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาเพื่อทำ ความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอน หมอนมุ้ง แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดผ่องใสอะไรทำนองนั้น โดยเฉพาะตามอำเภอ หมู่บ้านชานเมือง หรือตามชนบท เสียงดังสนั่นหวั่นไหวราวกับเกิดสงครามขึ้น มีการยิง-จุด ประปรายเว้นระยะยันถึง 4-5 โมงเช้า ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน เพราะเสียงดังของมันทำให้หนวกหู เกิดความรำคาญ กวนประสาท นอนไม่หลับไปตามๆกัน

ซึ่งตามกฎหมายการยิงปืนถึงแม้จะยิงขึ้นฟ้า ไปตามประเพณีคืนวันสังขารล่อง วันปีใหม่ หรือ เทศกาลต่างๆ ปรากฎว่า มีการใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการใช้ปืนยิงขึ้นฟ้า ในที่สาธารณะจะด้วยเหตุใดก็ตามนั้น การยิงปืนดังกล่าว อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุ จำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธปืนไป โดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมนุมชน ที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด

ขณะที่ความในมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่ (1) เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหารและตำรวจ ซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ (2) ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) (ข) หรือ (ค) ซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อการป้องกันประเทศ หรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือรักษาทรัพย์สินอันสำคัญของรัฐ (3) ประชาชนผู้ได้รับมอบให้มีและใช้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) (ง) ซึ่งอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือราชการ และมีเหตุจำเป็นต้องมี และใช้อาวุธ ปืนในการนั้น

โดยความผิดของเรื่องนี้ มาตรา 72 ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิ วรรคสองด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาท ส่วนผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ หากยิงแล้วปรากฎว่าไปโดนผู้อื่น ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องรับผิดดังนี้ มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200, 000 บาท มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และ การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับรวมถึง มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10, 000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังต้องรับผิดในทางแพ่ง ถูกเรียกร้องค่าเสียหายได้

เสน่ห์ นามจันทร์/รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น