“ปลักขิก”หรือ”ขุนเพ็ด” เป็นเครื่องรางคู่กับ”โยนี” เครื่องหมายของการกำเนิดส่งใหม่ ๆ หรือความงอกงามของชีวิตใหม่

“ปลักขิก”หรือ”ขุนเพ็ด” เป็นเครื่องรางคู่กับ”โยนี” (เครื่องรางรูปของลับของสตรี) ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นดอกไม้ในแดนสวรรค์ เป็นเครื่องหมายของการกำเนิดส่งใหม่ ๆ หรือความงอกงามของชีวิตใหม่

ขุนเพชร หรือปลัดขิก แต่เดิมนิยมให้เด็กผู้ชายอายุตั้งแต่ 3-4 ขวบขึ้นไป แขวนไว้ที่เอว เพราะเด็กอายุประมาณนี้จะเริ่มมีเอวแล้ว และเด็กในระยะนี้ จะมีภูมิคุ้มกันตนน้อยลง เพราะว่าหย่านมแล้ว แนวโน้มที่จะเจ็บไข้ไม่สบายมีมากขึ้น ความเชื่อที่ว่าผีสาง ทั้งหมายจะทำให้เด็กเจ็บป่วยไม่สบาย จึงให้แขวนปลัดหรือขุนเพชรไว้ ทั้งนี้เพราะปลัดขิกที่นำมาแขวนให้กับเด็กชายนั้น จะอยู่ในลักษณะขององคชาต จำลองย่อส่วนโดยปราศจากหนังหุ้มปลาย ระดับของการแขวนก็อยู่ที่เอวมิใช่คอ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ห้อยลงมาใกล้กับระดับองคชาต (อ้ายจู๋) ของเด็กให้มากที่สุด เพื่อจะหลอกผีให้เข้าใจผิดไปว่าเด็กชายนั้นใช่เด็ก หากเป็นผู้ชายเต็มตัวแล้ว โดยมีองคชาตที่ปลายเปิดไม่มีหนังหุ้ม ส่วนปลัดขิกเหล่านี้ หากจะให้มีความขลังยิ่งขึ้น ก็ควรจะต้องผ่านการปลุกเสกเสียด้วยอีกต่างหาก

ในที่สุดปลัดขิกหรือขุนเพ็ด ก็ได้ประกาศอิสระภาพยกฐานะตัวเองขึ้นไปอีกระดับ กลายเป็นสิ่งสมควรแก่การเคารพบูชากราบไหว้ สถิตอยู่ตามศาลหรือเป็นเครื่องนำโชคลาภตั้งไว้บูชา หรือเป็นเครื่องมือเพื่อนำความเจริญก้าวหน้าเนื่องในการทำมาค้าขาย โดยทั่วไปจะนำปลัดขิกไปจิ้มลงบนสินค้าพร้อมกับมีคาถากำกับว่า “โอม ระรวย มหาระรวย สามสิบสอง-วัยแห่ห้อมล้อม-ีค้าง่ายขายดีแหก-ีกลับบ้าน ฮ่า ฮ่า ฮ่า” (ควรร่ายด้วยลมหายใจเฮือกเดียว แต่ทำไมจึงต้องสามสิบสอง เรื่องนี้ยังสืบไม่ได้) หรือ “…โอม ไอ้ขลิกไอ้ขลัก เงี่ยงหักเงี่ยงหงิก ปกเอยปกหาง หางเอยหางอะไร บุรุษชอบ-ี สตรีชอบ-วย ทำให้กูร่ำรวย โพะหัว โพะหัว โพะหัว” (คาถาของหลวงพ่อซ่วน เมืองแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา) แต่หากจะตรองดูก็จะเห็นว่า การที่ใช้คำที่ไม่ค่อยสุภาพเป็นคาถากำกับ ก็เพื่อจะให้พวกผีๆ เข้าใจไปว่า สินค้าที่วางขายนั้นเป็นของที่ไม่มีราคาค่างวดวิเศษวิโสอะไร ไม่คุ้มกันที่พวกผีจะมาใส่ใจเสียเวลามารบกวน

ปลักขิกนั้นมีเคล็ดการใช้แตกต่างกันไป บางสำนักนิยมให้ถูกเนื้อถูกตัว คือคาดที่เอวให้โดนเนื้อตัวเจ้าของไว้ แต่อีกแบบหนึ่งนั้น นิยมให้ปลัดขิกแขวนออกมาให้คนอื่นๆเห็น จะยิ่งมีอานุภาพ คงเป็นอิทธิพลมาแต่เดิมที่จะใช้หลอกผี ให้เข้าใจว่า โตแล้ว ผีจะได้ไม่มายุ่ง ส่วนการให้ถูกเนื้อโดนตัวนั้น ตามความคิดของผมเข้าใจว่า สิ่งต่างๆจะสมบูรณ์เมื่อธาตุทั้ง ๖ ประสานต่อเนื่องกันไป

ส่วนเรื่องอานุภาพหรือความขลังศักดิ์สิทธิ์ของปลัดขิกนั้น มีอานุภาพครบทุกด้านทุกประการ คาถาที่นิยมใช้กับปลัดขิก คือ หัวใจโจร ที่ว่า “กัณหะเนหะ” ด้วยความหมายที่ว่า โจร เป็นผู้ทำลายล้าง การใช้หัวใจโจรจึงเป็นการใช้เกลือจิ้มเกลือ หนามยอกเอาหนามบ่ง ให้โจรทำลายล้างสิ่งไม่ดีต่างๆให้หมดไป

ปลักขิกนั้นเด่นทั้งเรื่อง คงกระพัน กันเขี้ยวงา และแคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันเสนียด*** ภูติผีต่างๆ ในด้านเมตตามหาเสน่ห์ก็มีอยู่ครบ แต่ที่จะโดดเด่น เห็นจะเป็นแค่ 2 อย่าง คือ คงกระพัน กันเขี้ยวงา และเมตตาค้าขาย

ข้อดีของเครื่องรางชนิดนี้ คือ ไม่มีข้อห้ามยุ่งยาก ตัดปัญหาเรื่องความเชื่อที่ว่า ของจะเสื่อมเพราะการพลั้งเผลอไปลอดราวผ้าหรืออยู่ในที่ไม่สมควร คาถาของขุนเพชร เองก็มีแต่คำพื้นบ้านหรือออกจะหยาบนิดๆพอน่ารัก

ปลัดขิกเริ่มด้วยเป็นเครื่องมือหลอกผี แต่แล้วต่อมาปลัดขิกก็ได้ยกระดับตัวเอง ให้กลายสภาพจากเครื่องมือหลอกผีมาเป็นของขลังในตัวของมันเอง โดยไม่จำกัดอยู่กับวัยอีกต่อไป ผู้ใหญ่ซึ่งไม่มีความจำเป็นแต่ประการใด ที่จะหลอกผีให้เข้าใจผิด ก็ยังนิยมที่จะแขวนไว้เป็นเครื่องรางป้องกันสิ่งชั่วร้าย โดยไม่รู้ถึงสาเหตุหน้าที่ของมัน

ผู้ที่มีความเชื่อมั่นและคิดเสมอว่าตัวเรามีของดี คือ ขุนเพ็ด เผด็จศึกติดตัวอยู่ ยิ่งมีความผูกพันธ์และเชื่อมั่นมากเท่าไร เครื่องรางชนิดย่อมแสดงผลให้ประจักษ์ได้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปแล้วเกจิอาจารย์เก่าหรือผู้ที่ใช้เครื่องรางทุกอย่าง จะขาดปลัดขิกไม่ได้ เป็นของป้องกันตัวพื้นฐานที่สำคัญ ในฐานะ “ผู้เคียงข้าง” ตลอดกาล

เกจิอาจารย์หลายสำนัก สร้างปลัดขิกหรือขุนเพชรได้อย่างยอดเยี่ยม และเห็นผลอย่างเหลือเชื่อ ในทุกวันนี้จะมีผู้นิยมใช้ปลักขิกในฐานะของเครื่องรางที่ทำให้ค้าขายดี มีคนเข้าร้านมากมาย จึงนิยมในหมู่แม่ค้าและเจ้าของกิจการระดับทั่วไป แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเหนียวแน่น เป็นแฟนพันธุ์แท้ของปลัดขิก คือ วัยรุ่นหรือหนุ่มที่ยังคงถือเก็บสะสมเครื่องรางของชายชาตรีให้ครบครัน ปลักขิก ตะกรุด จึงเป็นเครื่องรางที่ไม่ถูกมองข้ามในกลุ่มนี้

ที่มา: nightsiam.com
เสน่ห์ นามจันทร์/รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น