วิถีชนคนยอง “บ้านเวียงยอง” เมืองลำพูน

เป็นเวลากว่า 200 กว่าปีมาแล้ว ที่พระเจ้ากาวิละได้กวาดต้อนกลุ่มชาวไตลื้อจากเมืองสาด เมืองยอง เมืองปัน เมืองปุ เมืองหาง เมืองต่วน อันถือเป็นช่วงเวลาของการ “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พระเจ้ากาวิละได้รวบรวมผู้คนไพร่พลจากเมืองลำปาง 300 คนมาสมทบกับกำลังของพญาจ่าบ้านที่เวียงสะแกงอีก 700 คน มาตั้งมั่นที่เวียงป่าซางเป็นเวลากว่า 14 ปี

จนถึงปี พ.ศ.2339 พระเจ้ากาวิละจึงสามารถเข้าไปตั้งมั่นที่เมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อพระเจ้ากาวิละเข้าไปตั้งมั่นที่เมืองเชียงใหม่แล้ว ได้มีความพยายามที่จะขับไล่อิทธิพลของพม่าให้ออกไปจากล้านนา ในปี พ.ศ.2345 เริ่มตีเมืองเชียงตุงและเมืองสาดสำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ.2347 ได้เข้าตีเมืองเชียงแสนโดยกองทัพผสมจากเมืองเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ลำปาง เวียงจันทน์และเมืองน่าน ชาวเมืองเชียงแสนถูกจับเป็นเชลยจำนวนมากและได้แบ่งเชลยออกเป็น 5 ส่วนกวาดต้อนไปไว้ตามเมืองต่าง ๆ

หลังจากที่ได้รับชัยชนะจากเมืองเชียงแสนแล้ว กองทัพจากเมืองเชียงใหม่ได้ขึ้นไปกวาดต้อนไพร่พลตามเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ทางเหนือเมืองเชียงแสน โดยเข้าไปกวาดต้อนที่เมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองมาง เมืองปัน เมืองปุ ฯลฯ ตามนโยบายของพระเจ้ากาวิละที่ต้องการไพร่มาฟื้นฟูเมืองที่รกร้าง อีกประการหนึ่งเพื่อไม่ให้พม่าใช้เป็นฐานที่มั่นมาโจมตีล้านนาอีก

การกวาดต้อนผู้คนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ล้านนา ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่และลำพูนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยกำหนดประเภทของไพร่ที่ถูกกวาด ต้อนมา หากเป็นช่างฝีมือหรือไพร่ชั้นดีจะกำหนดให้อยู่ในเมือง เช่น ชาวเขินที่หายยาอพยพมาจากเมืองเชียงตุงมีความเชี่ยวชาญการทำเครื่องเขินให้มาอยู่เชียงใหม่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศใต้ ชาวยวนบ้านฮ่อมที่เชี่ยวชาญการทำดอกไม้กระดาษอยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศตะวันออก กลุ่มไตหรือไทใหญ่เชี่ยวชาญด้านการค้าอยู่บริเวณช้างเผือกและช้างม่อย

ส่วนไพร่ที่ไร้ฝีมือจะให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่นอกเมืองและมีชาวยอง(กลุ่มคนที่มาจากเมืองยอง)บางส่วนให้อพยพเข้ามาอยู่ในลำพูน
ปี พ.ศ.2348 เมื่อเมืองลำพูนได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ภายหลังที่คนจากเมืองยองถูกกวาดต้อนมาอยู่มีพระยาบุรีรัตน์คำฝั้น อนุชาของพระเจ้ากาวิละมาครองเมืองเป็นองค์แรก เจ้าบุญมาน้องคนสุดท้ายของตระกูลเจ้าเจ็ดตนเป็นพระยาอุปราชเมืองลำพูน การแบ่งไพร่พลคนจากเมืองยองในการตั้งถิ่นฐานที่ลำพูน เจ้าหลวงคำฝั้นเจ้าเมืองลำพูนให้พญามหิยังคบุรี เจ้าเมืองยองและน้องอีก 3 คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันออกติดกับเมืองลำพูนที่บ้านเวียงยอง ให้ผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยู้ เมืองหลวย ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ชุมชนเหล่านี้มีหน้าที่ทอผ้าให้กับเจ้าเมืองลำพูน

คนยองแห่งบ้านเวียงยอง จึงนับเป็นชุมชนชาวยองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้เวียงลำพูนมากที่สุด คนยองเหล่านี้ยังคงสืบทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของคนยองมาแต่โบราณกาล ได้แก่ การสร้างบ้านแปงเมืองอันนับเป็นการจำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนยองรวมถึงการตั้งชื่อหมู่บ้านตามหมู่บ้านเดิม เช่น บ้านตอง บ้านหลุก บ้านยู้ บ้านหลวย เป็นต้น นอกจากนี้คนยองในเมืองลำพูนยังได้สร้างวัดหัวข่วง หรือ “วัดหัวข่วงนางเหลียว” ภายหลังได้เรียกมาเป็น “วัดหัวขัว” อันเปรียบเสมือนศูนย์รวมใจของคนยอง และยังเป็นสัญลักษณ์ของวัดหลวงประจำเมืองยองอีกด้วย

ดังนั้น วัดหัวข่วงนางเหลียว หรือ วัดหัวขัว จึงเป็นวัดสำคัญ ดังจะเห็นได้จากมีเจ้านายเชื้อสายเมืองยองได้มาบรรพชาอุปสมบทที่วัดแห่งนี้ รวมถึงเมื่อมีเจ้านายเชื้อสายยองได้ถึงแก่อนิจกรรมลง ได้มีการนำเอาอัฐิมาบรรจุไว้ที่วัดหัวขัว นอกจากนั้นวัดหัวขัว ซึ่งถือเป็นวัดหลวงของคนยอง วัดนี้ยังมีการยึดถือปฏิบัติประเพณีความเชื่อของชาวยองที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากความเชื่อของคนเมืองลำพูนก็คือ การตั้งศาลเทวบุตรหลวง หรือ เตวะบุตรโหลง ความเชื่อในการนับถือผีของชาวยองที่มีแต่ดั้งเดิมนั้น มี 2 ชนิดคือ “ผีดี” และ “ผีร้าย” ผีร้ายหมายถึง ผีกะ ผีปอบ ซึ่งปัจจุบัน หมดไปจากความเชื่อในสังคมคนยอง ส่วนผีดีนั้นได้แก่ เตวะบุตรโหลง ซึ่งจะคอยปกป้องคุ้มคอยให้อยู่เย็นเป็นสุข

การอัญเชิญเอาองค์เทวบุตรหลวง หรือ “เตวะบุตรโหลง” จากเมืองยองมาไว้ที่วัดแห่งนี้ โดยได้สร้างเป็นหอเทวบุตรหลวงขึ้น ตามตำนานกล่าวถึงเมื่อครั้งพระยาสุลังควุฒิ ได้สร้างพระธาตุจอมยองเสร็จแล้ว ได้โปรดให้มีการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ พระยาอินทร์ได้อาณัติให้เทวบุตร 4 ตนให้มาดูแลรักษาพระธาตุ “ครั้นว่าบุคคลใดหรือคฤหัสถ์และนักบวชก็ดี และปมาทะอนาตระเบ่าคบยำดั่งอั้น สูท่านทั้งหลาย จู่งทำอันตรายแก่เขาฝูงนั้นเทอะ ดั่งเทวบุตรสี่ตน ตนหนึ่งชื่อ สุรัณณ ตนหนึ่งชื่อ มหิยังคะ ตนหนึ่งชื่อ ลักขณะ ตนหนึ่งชื่อว่า มังคละ..”
ครั้งที่สมัยคนยองได้เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเวียงลำพูน ได้ขาดซึ่งสิ่งยึดเหนียวจิตใจในฐานะของคนที่อยู่ไกลบ้าน คนยองเหล่านี้จึงได้อัญเชิญเอาองค์เตวะบุตรโหลงจากเมืองยองมาประดิษฐานไว้ที่วัดหัวขัว และในวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี จะมีประเพณีบูชาเตวะบุตรโหลง จัดขึ้นที่วัดหัวขัว ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง ประเพณีบูชาเตวะบุตรโหลงของชุมชนชาวบ้านเวียงยองนั้นได้กระทำสืบทอดต่อกันมานับร้อยปี พ่อหนานชม ชมภูรักษ์ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลเวียงยองเล่าถึงพิธีสักการะเตวะบุตรโหลงว่า จุดสำคัญของพิธีนี้อยู่ที่เครื่องสักการะและคำกล่าวบูชาเตวะบุตรโหลง

เมื่อถึงวันที่ 16 เมษายน หรือ วันปากปี ชาวบ้านเวียงยองจะตระเตรียมเครื่องสักการะหลวงขึ้น ประกอบด้วยเครื่องสักการะ 17 อย่าง อันได้แก่ มะพร้าว 1 แขนง กล้วยดิบ 1 เครืออ้อยดำ 3 เล่ม ข้าวเปลือกและข้าวสารอย่างละ 1 ตาง เทียนขี้ผึ้งแท้หนัก 1 บาทจำนวน 4 เล่ม เทียนขี้ผึ้งเล่มเล็ก 16 เล่ม ผ้าขาวผ้าแดงอย่างละ 1 ผืน หมาก พลูและสวยดอกไม้อีก 15 สวย เบี้ย 1,300 ตัว หมากเคี้ยว 1,300 คำ และตุงสีขาวอีก 1 ตัว โดยเครื่องสักการะหลวงนี้จะตั้งไว้ในบริเวณหน้าหอเตวะบุตรโหลง ส่วนชาวบ้านก็จะนำเสื้อของแต่ละคน พร้อมด้วยสะตวงใส่ข้าวปลาโภชนา

เพื่อนำเข้าร่วมในพิธีเตวะบุตรโหลง มีลักษณะเป็นเสาฐานแท่นบูชา คล้ายโดมปล่อง 4 เสา ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันตามชื่อของเทวบุตรชาวยอง ได้แก่ สุรณะ ปิทธิยะ ลักขณาและเทวตา ที่เมืองยองในประเทศพม่า
เสาเทวบุตรหลวงนี้จะตั้งอยู่ที่ฐานพระธาตุจอมยองซึ่งเป็นพระธาตุของวัดหัวข่วงราชฐาน การบูชาเตวะบุตรโหลงของคนยองมีความเชื่อว่า หากจะออกรบชายแดนให้บูชาเทวบุตรองค์ สุรณะ หากเป็นความขึ้นโรงขึ้นศาล คัดเลือกทหารเกณฑ์ ให้บูชาเทวบุตรองค์ ปิทธิยะ หากต้องการโชคลาภ ให้บูชาเทวบุตรองค์ ลักขณา และหากเจ็บไข้ได้ป่วย ให้บูชาเทวบุตรองค์ เทวตา
ในหนังสือ “ประวัติวัดหัวขัว” เขียนโดยพระครูสังวรญาณประยุต กล่าวถึงการบูชาศาลเตวะบุตรโหลงว่า เป็นความเชื่อที่ชาวยองให้ความนับถือมาตั้งแต่อดีต ในสมัยที่เจ้าเมืองยองอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเวียงยองในระยะแรกนั้นก็มีการอัญเชิญเตวะบุตรโหลงมาจากเมืองยองด้วย นอกจากนั้นแล้วในสมัยของเจ้าหลวงเมืองลำพูนทุกพระองค์จะให้ความเคารพนับถือเตวะบุตรโหลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ก็เคยมาขึ้นขันหลวงบูชาเตวะบุตรโหลงในช่วงวันปากปี (16 เมษายน) เป็นประจำทุกปี

ด้วยเหตุนี้ คนยองแห่งบ้านเวียงยองจึงถูกยกย่องในฐานะผู้มีส่วนสำคัญ ในการดำเนินชีวิตตามฮีตฮอยโบราณและอยู่ร่วมกับกลุ่มคนอื่น ๆ ได้อย่างผสมกลมกลืน ทั้งแบบประเพณีและวิถีชีวิต

ปัจจุบันความเจริญได้โถมถาเข้าสู่วิถีชีวิตชุมชน นำไปสู่การผสมกลมกลืนของวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ ทว่าคนยองในลำพูน กลับดำรงอยู่ในฐานะของคนยองส่วนใหญ่ในสังคมไม่ว่าระดับหมู่บ้าน ระดับท้องถิ่น ได้ตรงแบบแต่ดั้งเดิมไม่มีผิดเพี้ยน คนยองลำพูนยังคงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมได้ค้อนข้างยาวนาน จนยากที่ชาติพันธ์ใดจะเสมอเสมือน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น