วิหารลายคำ ที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” ที่สุดความงามศิลปกรรมของภาคเหนือ

วิหารลายคำ ที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์”
ที่สุดความงามศิลปกรรมของภาคเหนือ

ถ้าหากพูดถึงวัดในจังหวัดเชียงใหม่ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “วัดพระสิงห์” หรือ ชื่อเต็มๆ คือ “วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร” ซึ่งเป็นวัดที่สวยงามคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาช้านาน มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ ถนนสามล้าน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ภายในวัดพระสงห์ มี พระวิหารลายคำ ซึ่งเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่งดงาม ในวิหารมีพระประธานที่เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองคือ พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ มีตำนานว่าสร้างที่ลังกา เคยประดิษฐานที่เชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมาผู้ครองนครเชียงใหม่รบชนะเชียงราย ก็อัญเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะล้านนาสกุลช่างเชียงแสน จะอัญเชิญแห่รอบเมืองเชียงใหม่ให้ประชาชนสรงน้ำทุกวันสงกราต์ พระวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่เรียกว่า วิหารลายคำ เพราะศิลปะและภาพ

ตามประวัติวิหารลายคำ พระเมืองแก้ว (พ.ศ.๒๐๓๘ – ๒๐๖๘) โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ วิหารลายคำบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้ากาวิละและเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.๒๓๙๗ – ๒๔๑๔)วิหารลายคำ เป็นวิหารทรงพื้นเมืองล้านนาขนาดเล็ก
ปัจจุบันวิหารลายคำกว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออกวิหารลายคำนี้มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามปราณีตบรรจงมากแสดงให้เห็นฝีมือของช่างในยุคนั้นว่าเจริญถึงที่สุด ตัววิหารลายคำสร้างตามแบบศิลปกรรมของภาคเหนือ มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดหน้า และใกล้ ๆ พญานาค มีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว บริเวณ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” บนผนังด้านหลังพระประธาน เสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่เหลี่ยม) มีภาพลายทองพื้นแดงเป็นลวดลายต่างๆ เต็มไปหมด

งานจิตรกรรมฝาผนัง ที่เขียนขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ถือว่าทรงคุณค่าทางด้านศิลปะ ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตแบบล้านนา และ วัฒนธรรมของภาคเหนือ
จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร สีที่ใช้เป็นวรรณสีเย็นที่มีสีน้ำเงินครามและสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็มีสีแดง สีเขียว สีน้ำตาบ สีดำและสีทองซึ่งใช้เขียนส่วนที่เป็นโลหะปิดด้วยทองคำเปลวตัดด้วยสีแดงและ ดำ เช่น เชิงหลังคาและยอดปราสาท สิ่งของเครื่องใช้ เช่น อาวุธ เครื่องประดับ จิตรกรรมฝาผนังที่งดงามประดับตลอดทั้งอาคาร แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. ภาพลายทองล่องชาด เทคนิคฉลุกระดาษบนเสาและผนังด้านหลังพระประธาน เป็นงานแบบลวดลายเกือบทั้งหมด ลายทองบนผนังด้านหลังพระประธาน จุดเด่นคือมีการใช้ทองมากเป็นพิเศษ ทำให้พระพุทธรูปดูเด่นเป็นสง่า
2. จิตรกรรมภาพเขียนสี เป็นภาพเล่าเรื่อง ตลอดผนังด้านข้าง ทิศเหนือเขียนเรื่องสังข์ทอง ทิศใต้เขียนเรื่องสุวรรณหงส์

ภาพ จิตรกรรมฝาผนังของวัดนี้เขียนไว้ที่ผนังด้านในของวิหารลายคำ การจัดวางภาพ ตอนบนของผนังทั้ง 2 ด้าน เขียนภาพเทพชุมนุม เป็นรูปเทวดาเหาะอยู่กลางอากาศผนังระดับใต้เทวดาเหาะ เขียนเล่าเรื่องนิทานชาดก ผนังด้านซ้ายเขียนเรื่องสังข์ทองด้านขวาเขียนเรื่องสุวรรณหงส์ เทคนิคในการเขียนใช้สีเขียวและครามมาก เน้นความสวยงามของตัวปราสาทราชวังโดยการปิดทองให้ดูเด่นสะดุดตา การเขียนต้นไม้ใช้พู่กันหรือเปลือกกระดังงากระทุ้งทำเป็นพุ่มไม้ แล้วเขียนกิ่งก้านเพิ่มลงไป อายุของจิตรกรรมอยู่ในราวสมัยรัชกาลที่ 5
ทั้งหมดนั้น คือเรื่องราวอันน่าสนใจของวิหารลายคำ ท่านที่อ่านจบแล้ว อยากมาสัมผัสความงามของพระวิหารลายคำ รวมทั้งนมัสการ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคูเมืองของชาวล้านนา

ร่วมแสดงความคิดเห็น