พิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์

พิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์

ในทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกๆ “วันสังขารล่อง” คำว่า สังขาร หรือ สังขานต์ เพี้ยนมาจาก “สังกรานต์” ที่ตรงกับวันขึ้นปีใหม่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนศักราชใหม่ พิธีที่สำคัญที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเนิ่นนานในการอัญเชิญพระพุทธสิงหิงค์ออกจากวิหารลายคำให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำ

เมื่อในสมัยของพญาแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงค์มังราย ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. 1928-1944 พระองค์ได้อัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” มาประดิษฐานที่วัดนั้น และได้เรียกชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดพระสิงห์” ตามชื่อของพระพุทธรูป


พญาแสนเมืองมา เป็นกษัตริย์แห่งราชวงค์มังรายเสวยราชสมบัติ ณ เมืองนครเชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ.1931-1943 ทรงเป็นพระราชโอรสของพญากือนาธรรมิกราช ในขณะที่พระองค์ประสูตินั้น ท้าวพญาสามันตราประเทศเขตเมืองต่างๆ น้อมนำเอาเครื่องราชบรรณาการมาน้อมถวายพญากือนาธรรมิกราช ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ามากนัก ด้วยนิมิตอันนั้น จึงเฉลิมพระองค์ว่า “เจ้าแสนเมืองมา” และมีพระนามเป็นภาษาบาลีว่า “พระเจ้ามักขบุราคม”

เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์นั้นพระองค์มีพระชนมายุได้เพียงแค่ 14 พรรษา ปรากฏว่ามีขุนนางท่านหนึ่งคือ แสนผานอง เป็นกำลังสำคัญสนับสนุนให้พระองค์ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา แต่ปรากฏว่าท้าวมหาพรหมพระราชอนุชาของพญากือนาธรรมิราช ซึ่งได้ครองเมืองเชียงรายอยู่ ได้ยกกองทัพลงมาเพื่อหวังจักชิงเอาราชสมบัติ แต่ก็พ่ายแพ้เพราะทางเชียงใหม่มีกองกำลังของแสนผานอง และกองกำลังของเจ้าหมื่นโลกนคร เจ้าเมืองลำปางคอยต่อสู้ป้องกันให้ท้าวมหาพรหมจึงได้ไปสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 1 ขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาจึงปรากฏว่าในสมัยของพระองค์มีกองทัพของกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาตีอาณาจักรล้านนาเป็นครั้งแรกโดยเข้าปล้นเอาเมืองลำปางก่อน แต่ก็มิได้สำเร็จต้องถอยทัพกลับไป

ต่อมาท้าวมหาพรมเกิดการแตกแยกผิดใจกับกรุงศรีอยุธยาจึงหันกลับมาสวามิภักดิ์ต่อล้านนาอีกครั้งพญาแสนเมืองมาก็พระราชทานอภัยโทษ และโปรดให้กลับไปครองเมืองเชียงรายตามเดิม ในพงศาวดารโยนก ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า ท้าวมหาพรซึ่งเป็นพระอนุชาของพญาแสนเมืองมาไม่พอพระทัยที่พระองค์ได้ครองเมืองเชียงใหม่ จึงยกทัพมาหมายจะยึดเมืองแต่ก็พ่ายแพ้แก่พญาแสนเมืองมา ท้าวมหาพรหมจึงหนีไปอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรชั่วคราว ภายหลังพระองค์ได้นำ “พระพุทธสิหิงค์” มาถวายแด่พญาแสนเมืองมาไว้ และนำไปประดิษฐานที่วัดลีเชียงพระ และเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ตามชื่อพระพุทธรูปดังกล่าว มีประวัติปรากฏในหนังสือสิหิงคนิทานของพระโพธิรังสี ภิกษุชาวเชียงใหม่ เป็นผู้แต่งไว้เป็นภาษาบาลีว่า พระเจ้าแผ่นดินลังกา(สิงหล)เป็นผู้สร้าง

เจ้าอาวาส วัดพระสิงห์ กล่าวว่า พิธีการอัญเชิญพุทธสิหิงค์ออกแห่เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ จะประกอบพิธีในวันที่13 เมษายนของทุกๆปี ในเวลา 08.00 น.พระสงฆ์ สามเถรทั้งหมดจะพากันไปพร้อมกันในที่วิหารลายคำ จากนั้นจะเป็นการทำวัตรเช้าเสร็จเรียบร้อย ศรัทธาประชาชนทยอยกันมาพร้อมกันแล้ว ผู้แทนของพระสงฆ์จะกล่าว คำอาราธนาอัญเชิญพุทธสิหิงค์ ในเบื้องต้น


หลังจากนั้นทางฝ่ายราชการบ้านเมืองจะมี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายกเทศมนตรี นายกเทศบาล เทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะศรัทธาประชาชน หน่วยงานองค์กรต่างๆที่เข้ามาร่วมงาน จะร่วมประกอบพิธีกล่าวคำ คำอาราธนาอัญเชิญพุทธสิหิงค์ อีกรอบหนึ่งในนามของส่วนราชการและประชาชน

จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ได้จัดเตรียมไว้แต่งกายเรียบร้อยจะเข้ามา กราบขอขมาขออภัยในการขึ้นไปอัญเชิญยกองค์พระพุทธสิหิงค์ จะมารางเหล็กสำหรับเคลื่อนออกมาข้างนอกวิหารลายคำไปประดิษฐานขึ้นยังรถบุษบกเรียบร้อยแล้ว ทางพระสงฆ์จะมีเจ้าอาวาสขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์เป็นเบื้องต้นก่อน ต่อจากนั้นก็เป็นท่านผู้ว่าราชการจังหวัด เทศมนตรีนครเชียงใหม่ ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่หน่วยงานต่างๆร่วมสรงน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ต่อจากนั้นแล้วจะมี ขบวนพระสงฆ์ สามเณร มีการแห่ด้วย กลองสะบัดชัย กลองตึงโน่ง ช่างฟ้อน พระสงฆ์ สามเณร ศรัทธาประชาชน ร่วมกัน อาราธนาอัญเชิญดึงรถบุษบกเคลื่อนออกจากวัดพระสิงห์ไปตามถนนราชดำเนิน ไปเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกกลางเวียงเชียงใหม่ จากนั้นไปถึงยังอนุสาวรีสามกษัตริย์ พระสงฆ์ สามเณรจะกลับมาฉันท์อาหารเพลที่วัดพระสิงห์อีกครั้ง

คนเฒ่า คนแก่ เด็กๆ พร้อมใจ พร้อมแรง ศรัทธาในการพร้อมใจลากจองรถบุษบกที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” เคลื่อนไปรอบเมืองเชียงใหม่ ให้ประชาชนร่วมสรงน้ำให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

ร่วมแสดงความคิดเห็น