คุ้มหลวงเวียงแก้ว เจ้าหลวงเชียงใหม่รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัยแบบตะวันตก

คุ้มหลวงเวียงแก้ว เจ้าหลวงเชียงใหม่รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัยแบบตะวันตก
0.9.138
อาคารสีขาวสถาปัตยกรรมแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ผสมผสานวัฒนธรรมไทยเหนือ ด้านหน้าของคุ้มมีห้องยาวเปิดโล่ง บางส่วนตกแต่งด้วยเครื่องเรือนแบบยุโรป ในท้องพระโรงมีหน้าต่าง กระจกและเครื่องประดับต่างๆ คือ คุ้มหลวงเวียงแก้ว พระเจ้า อินทวิชยนนท์
ในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของ คุ้มกลางเวียง เชื่อกันว่าเป็นส่วนที่ตั้งของ “วังหน้า” เพราะเป็นมรดกของเจ้าอุปราชสุริยะ เดิมเจ้าอุปราชสุริยะเตรียมถวายให้ใช้เป็นที่ทำการเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ร.ศ.118 (พ.ศ.2442) แต่เนื่องจากเจ้าจอมมารดา ดารารัศมีได้มีพระประสงค์ทูลเกล้าฯ ถวายคุ้มกลางเวียงบางส่วนที่เป็นมรดกของพระองค์ให้รัฐบาล เพื่อจัดสร้างศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ(ปัจจุบันเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) ดังนั้นคุ้มส่วนนี้จึงตกทอดเป็นมรดกแก่เจ้าน้อยเลาแก้ว(เจ้าราชบุตร)ต่อมาทางราชการขอซื้อ เพื่อก่อสร้าง “ที่ทำการศาลแขวง จังหวัดเชียงใหม่” แทนหลังเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงสะพานนวรัฐ โดยพื้นที่ในส่วนนี้มีเนื้อที่ทั้งหมด 6 ไร่ 2 ตารางวา ซึ่งรวมทั้งหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ทั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่หนุนเสริมกันและมีพื้นที่ต่อเนื่องกัน โดยโน้มนำการอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่

ปัจจุบันเป็น “พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา” ตั้งอยู่ ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิด เพื่อสนับสนุนพื้นที่กลางเวียงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ รวบรวมทั้งสาระความรู้และศิลปวัฒนธรรมของชาวล้านนาในอดีตมานำเสนอสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาพักอาศัยอยู่ใน จังหวัดเชียงใหม่ นานขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางด้านศิลปะและภูมิปัญญาล้านนาที่เป็นรากฐานของเมืองเชียงใหม่ให้เข้าใจในคุณค่าของเมืองเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง
ภายใน พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา จะนำเสนอข่วงแก้วล้านนาที่เป็นต้นความคิดของพุทธสถาปัตยกรรมล้านนาแนวคิดดั้งเดิมในเรื่องการปกป้องคุ้มครองโดยผี เทวดาอารักษ์ต่างๆ ผสมผสานกับพิธีกรรมที่เกิดขึ้น โดยแสดงให้เห็นถึงศิลปะของชาวล้านนาที่เกิดภายใต้ความศรัทธาทางพุทธศาสนา สถาปัตยกรรมของวิหารล้านนา การสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์อันมีที่มาจากความศรัทธาของชาวล้านนาต่อพุทธศาสนา รวมถึงรูปแบบการตกแต่งเครื่องสักการะอันงดงามแอบแฝงคามหมายทางพุทธิปัญญาของชาวล้านนาอยู่ด้วย

ในแต่ละห้องจะมีการจัดแสดงแตกต่างกันออกไป เช่น เครื่องสักการะล้านนาที่ประดิษฐ์ด้วยฝีมือมีลวดลายต่างๆ ที่นำมาจากคติความเชื่ออันสัมพันธ์กับเรื่องราวทางศาสนาและความเป็นสิริมงคล จิตรกรรมล้านนาฝาผนังของสกุลช่างเชียงใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อิทธิพลทางศิลปะจากอาณาจักรข้างเคียง รวมไปถึงงานจิตรกรรมบนวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะ การเขียนจิตรกรรมบนกระจกและการเขียนใบลานการบันทึกองค์ความรู้แขนงต่างๆ ในอดีต เช่น จักวาลวิทยาการเมืองการปกครอง โหราศาสตร์ วรรณกรรมตำรายา การสักยันต์ เมื่อได้สัมผัสถึงบรรยากาศในอาคารจะคล้ายว่าหลุดเข้าไปในยุคอดีตล้านนา มีการจำลองบรรยากาศจริงของประเพณีแห่ครัวทาน การขับซอ ประเพณี แอ่วสาวและเรื่องราวของดนตรีที่มีส่วนสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของล้านนา จนกระทั่งสัมผัสถึงอาหารการกินของชาวล้านนา ผ้าตีนจกแบบล้านนาเครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์และสิ่งมีค่าอีกมากมายนานาชนิดที่ได้รวบรวมไว้ในที่แห่งนี้ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น