ชมสีสันดอกเอื้องบาน แต่งแต้ม อุทยานหลวงราชพฤกษ์ รับปี๋ใหม่เมือง

ชมสีสันดอกเอื้องบาน แต่งแต้ม อุทยานหลวงราชพฤกษ์รับปี๋ใหม่เมือง

คิมหันตฤดู…สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ช่วงเดือนเมษายนเช่นนี้ แต่กลับมี “ดอกเอื้อง” สีเหลืองทองผลิดอกออกช่อ ได้ชื่นชมอย่างงดงามไปทั่ว ดั่งเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า ช่วงของเทศกาลปี๋ใหม่เมือง หรือเทศกาลสงกรานต์ได้เริ่มขึ้นแล้ว
สีสันของช่อดอกที่สดสวยสะดุดตาทั้ง ดอกเอื้องคำ และดอกเอื้องผึ้ง ที่ส่งกลิ่นหอมชวนให้ได้หลงใหลในเสน่ห์ของกล้วยไม้เมืองเหนือ

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง ที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น คือการแต่งกายของผู้หญิงล้านนา ที่มีความงดงามและเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับธรรมชาติ โดยจะเห็นได้จากความงามของช่อดอกกล้วยไม้สีเหลืองทอง ของดอกเอื้องคำหรือดอกเอื้องผึ้งทั้งช่อ ที่นำมาสอดแซมประดับเกล้ามวยผม สีเหลืองทองที่ตัดกับสีดำเงางาม ของเกล้ามวยผมสูง ค่อนไปทางกระหม่อมของหญิงสาว โดดเด่นและสง่างามยิ่งนัก กลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกเอื้องคำและดอกเอื้องผึ้ง

ชาวล้านนายังนิยมนำ ดอกเอื้องคำ แล ะดอกเอื้องผึ้ง ไปถวายพระเพื่อเป็นพุทธบูชา อาจเนื่องจากมีสีที่เป็นมงคล ดั่งกับสีจีวรของพระสงฆ์ สีเหลืองที่สุกสว่างดั่งทองคำนั้น ทำให้มีความเชื่อในเรื่องของโชคลาภมั่งมีเงินทอง และคติความเชื่อที่ว่าการถวายดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม ย่อมได้อานิสงส์แห่งการอามิสบูชามากกว่าการถวายดอกไม้สดที่ไม่มีกลิ่น และผู้บูชาด้วยดอกไม้สีสันสวยงามที่มีกลิ่นหอม และเป็นดอกไม้แรกแย้มแล้ว มีความเชื่อว่าเมื่อคราวจะได้อะไร ก็จะได้แต่ของที่ใหม่สดเสมอ ไม่เป็นมือสองรองจากใคร

เอื้องคำ (Dendrobium chrysotoxum Lindl.) คำว่า “เอื้องคำ” เป็นภาษาถิ่นเหนือ โดยคำว่าเอื้อง หมายถึงกล้วยไม้สกุลหวาย และ “คำ” หมายถึงทองคำ ซึ่งที่มาของชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ คงเพราะมีช่อดอกสีเหลืองทองนั้นเอง และตรงกับชื่อพฤกษศาสตร์ที่ระบุชื่อชนิด มีที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า “chryso” ซึ่งแปลว่าสีทอง
เอื้องผึ้ง (Dendrobium lindleyi Steud.) พบครั้งแรกทางภาคเหนือของประเทศพม่า ในปี ค.ศ.1840 โดย Ernst Gottlieb von Steudel เป็นผู้ตั้งทางพฤกษศาสตร์ และชื่อระบุชนิดนั้น ตั้งให้เป็นเกียรติแด่ Sir John Lindley

ดอกเอื้องคำ และ ดอกเอื้องผึ้ง เป็นกล้วยไม้ที่มีกลิ่นหอมชนิดหนึ่ง มีบางคนกล่าวว่าเป็น Honey fragrant คือ มีกลิ่นหอมหวานเหมือนดังกลิ่นของน้ำผึ้ง ดอกเอื้องคำและเอื้องผึ้ง มีความใกล้เคียงกันมักทำให้ผู้ที่พบเห็นสับสนกันอยู่ไม่น้อย แต่หากลองสังเกตอย่างละเอียดถึงลักษณะของกล้วยไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้แล้ว ก็พบว่ามีจุดที่แตกต่างกันอยู่เช่นกัน ถ้าในช่วงฤดูออกดอก เอื้องผึ้งจะให้ดอกเร็วกว่าดอกเอื้องคำกล่าว คือ ดอกเอื้องผึ้งจะออกดอกในช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย.
ส่วนดอกเอื้องคำจะให้ดอกในช่วง เดือน มี.ค.-พ.ค. ลักษณะของดอกให้สังเกตที่กลีบปากของดอกเอื้องทั้งสอง ดอกเอื้องคำขอบกลีบปากจะหยักเป็นฝอยละเอียด ส่วนเอื้องผึ้งขอบกลีบปากเรียบ ส่วนลำลูกกล้วยของกล้วยไม้ทั้ง 2 ชนิด มีความแตกต่างกันคือ เอื้องคำจะมีผิวลำลูกกล้วยสีเขียวอมเหลืองจนถึงสีเหลือง ส่วนเอื้องผึ้งจะมีผิวลำลูกกล้วย ที่คล้ำกว่าคือมีสีเขียวเข้ม และอีกวิธีหนึ่ง ในการใช้จำแนกชนิดกล้วยไม้ทั้งสองนั้น โดยการดูจากจำนวนใบต่อลำลูกกล้วย ถ้าเป็นเอื้องคำจะมีหลายใบต่อลำลูกกล้วย ส่วนเอื้องผึ้งนั้นจะมีเพียง 1 ใบเท่านั้น
นอกจากที่จะชื่นชมดอกเอี้ยงนานาชนิด แล้วยังมีกล้วยสกุลอื่นๆ อวดสีสันชูช่ออร่ามบนพื้นที่ กว่า 468 ไร่ ที่อยากเชิญชวนมาเที่ยวชมดอกเอี้ยงบาน ตลอดเดือน เม.ย. กันนะเจ้า
ขอขอบคุณข้อมูล/ อุทยานหลวงราชพฤกษ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น