คณะกรรมการร่วมราชการและประชาชน สำรวจแนวเขตป่ารอบโครงการก่อสร้างบ้านพักศาล

คณะกรรมการร่วมราชการและประชาชน ลงพื้นที่จริงสำรวจแนวเขตป่ารอบโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณป่าเชิงดอยสุเทพ ตามข้อสั่งการแม่ทัพภาคที่ 3 รวบรวมข้อมูลกำหนดแนวเขตในการรื้อถอน
ช่วงบ่ายที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมทุกฝ่ายที่ประกอบด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ประกอบด้วย ตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่,สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่,สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่,ชลประทานเชียงใหม่,ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่,อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย,ป่าไม้ และเครือข่ายของคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันตามข้อสั่งการของพลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 จากการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออกกรณีโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณป่าเชิงดอยสุเทพ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจแนวเขตป่าเพื่อกำหนดแนวเขตที่เหมาะสม ในกรณีที่จะต้องดำเนินการรื้อถอนบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในส่วนที่ยื่นล้ำขึ้นไปบนดอยสุเทพ
โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่บริเวณโครงการจัดหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องติดกับโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งมีถนนดินลูกรังที่ทางกองทัพบกสร้างไว้เป็นแนวเขตแบ่งพื้นที่ป่าไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เดิม ขณะเดียวได้มีการลงพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง โครงการชลประทานเชียงใหม่ ที่อยู่ติดกับโครงการก่อสร้างบ้านพักดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามคณะกรรมการร่วมดังกล่าวที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้ ไม่ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่จริงในโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุญาต แม้ว่าจะมีการติดต่อประสานงานไว้ล่วงหน้าแล้ว
ทั้งนี้นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งคณะกรรมการร่วมที่ลงพื้นที่สำรวจเพื่อกำหนดแนวเขตที่เหมาะสม เปิดเผยว่า เบื้องต้นมีการกำหนดแนวเขตเพื่อเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาตัดสินใจไว้ 3 แนว ได้แก่ 1.รื้อบ้านพักทั้งหมด และอาคารแฟลตที่พัก 9 หลัง จากทั้งหมด 13 หลัง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของเครือข่าย โดยยึดแนวเขตป่าดั้งเดิม 2.รื้อบ้านพักทั้งหมด และอาคารแฟลตที่พัก 6 หลัง และ 3.รื้อบ้านพักทั้งหมด พร้อมคงอาคารแฟลตที่พักไว้ทั้งหมด 13 หลัง โดยหลังจากการลงพื้นที่แล้วจะมีการรวบรวมข้อมูลและข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวเพื่อนำเสนอให้แม่ทัพภาค 3 เพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป ซึ่งเวลานี้เหลือเพียงเข้าไปลงพื้นที่สำรวจร่วมกันในพื้นที่จริงของโครงการก่อสร้างเท่านั้น แต่เชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 19 เม.ย.61 ตามกำหนด
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าการจะรื้ออาคารบ้านพักดังกล่าวอาจจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากติดเงื่อนไขทางกฎหมายหลายอย่าง จึงอาจจะคงอาคารไว้ใช้ประโยชน์นั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ต้องการให้มีการรื้อถอน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นบ้านพักที่ยื่นล้ำขึ้นไปบนดอยออกทั้งหมด เพราะต้องการผืนป่ากลับคืนมา และไม่ต้องการให้มีการคงอาคารใดๆ ไว้ทั้งสิ้น ทั้งนี้หากเป็นไปได้อยากเชิญให้นายกรัฐมนตรีมาลงพื้นที่เพื่อดูสภาพจริงว่าพื้นที่ยังเป็นป่าจริงหรือไม่ และเหมาะสมหรือไม่ที่จะปล่อยให้มีอาคารสิ่งก่อสร้างแปลกปลอมอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าหากนายกรัฐมนตรีได้มาเห็นสภาพพื้นที่จริงจะต้องเปลี่ยนใจ
นอกจากนี้นายธีระศักดิ์ ย้ำด้วยว่า สภาพพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยธรรมชาติทั้งไฟป่า รวมทั้งน้ำป่าไหลหลากและหน้าดินถล่ม ซึ่งหากโครงการนี้ต้องมีการทำประชาพิจารณ์หรือต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหมือนโครงการปกติทั่วไปโดยไม่ได้รับการยกเว้นเพราะเป็นโครงการของรัฐเชื่อว่าไม่ทางดำเนินการได้ โดยอยากให้กรณีนี้เป็นบทเรียนว่าหากจะมีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ป่าต้องให้มีประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ขณะเดียวกันอยากเรียกร้องให้มีการปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยหากชาวบ้านก่อสร้างบ้านพักรุกป่าแล้วถูกรื้อ ส่วนราชการก็ต้องถูกรื้อเช่นกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น