“ปล่อยนก-ปล่อยปลา” ทำบุญหรือทำบาปกันแน่

“ปล่อยนก-ปล่อยปลา”ความเชื่อในวันมหาสงกรานต์ หากปล่อยไม่ถูกที่ถูกทางเหมือนกับส่งมันไปตาย!เพราะสัตว์แต่ละชนิดอยู่ไม่เหมือนกัน
ในทุกปีของวันมหาสงกรานต์ หรือปี๋ใหม่เมืองล้านนา หลังจากไปทำบุญที่วัดแล้วก็มีการทำบุญปล่อยนก-ปล่อยปลามีความเชื่อที่ว่าจะได้อานิสงส์จากผลบุญปล่อยให้สัตว์มีอิสระที่ถูกกักขังไว้ เมื่อเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายจึงกลายเป็น”พุทธพาณิชย์”ขึ้นมา มีการนำมาวางขายกันเกลื่อนตามตลาด ตามวัดวาอารามต่างๆกันด้วย
สำหรับสัตว์ที่นิยมปล่อยและมีความหมายประกอบด้วย:
ปลาไหล หมายถึง การเงิน การงาน การเรียนจะราบรื่น
ปลาหมอ หมายถึง เพื่อสุขภาพ
ปลาบู่ หมายถึง ทดแทนผู้มีพระคุณ
ปลาดุก หมายถึง ศัตรูคู่แข่งแพ้พ่าย
ปลานิล หมายถึง ทรัพย์สินเพิ่มพูน
ปลาช่อน หมายถึง ช้อนเงินทอง สิ่งที่ซ่อนเร้นจะได้พบ
ปลาทับทิม หมายถึง ทำอะไรราบรื่น
ปลาสวาย หมายถึง เงินทองคล่องตัว
ปลาขาว หมายถึง ปลานำโชค
ปลาจาระเม็ด หมายถึง จะได้เงินเต้มเม็ดเต็มหน่วย
ปลาใน หมายถึง ได้เป็นเจ้าคนนายคน
ปลาดุกเผือก หมายถึง ปลามงคล
ปลาดำราหู หมายถึง สะเดาะเคราะห์
กบ หมายถึง ขออุทิศให้แก่เจ้ากรรมนายเวร
หอยขม หมายถึง ทิ้งความขมขื่น จะร่มเย็นเป็นสุข
หอยโข่ง หมายถึง หนทางโล่งเป็นผู้นำ ข้าทาสบริวารมาก
ตะพาบ หมายถึง ภัยคุกคามต่างๆ จะราบ อัมพาตจะดีขึ้น อายุมั่นขวัญยืน
การปล่อยสัตว์ ตามกำลังวัน
วันอาทิตย์ ปล่อยจำนวน 6-9 ชีวิต
วันจันทร์ ปล่อยจำนวน 15 ชีวิต
วันอังคาร ปล่อยจำนวน 8 ชีวิต
วันพุธ ปล่อยจำนวน 17 ชีวิต
วันพฤหัส ปล่อยจำนวน 12 ชีวิต
วันศุกร์ ปล่อยจำนวน 21 ชีวิต
วันเสาร์ ปล่อยจำนวน 10 ชีวิต
ส่วนการปล่อยนกสมัยก่อน มีการนำนกหลายชนิดนำมาขังกรงไว้เพื่อขายให้ผู้ใจบุญซื้อไปปล่อยมีนกกระติ๊ด นกปิ๊ดจะลิว นกเขา นกพิราบ เป็นต้น รวมถึงเฒ่าบก-เต่าน้ำ ปัจจุบันนกหลายชนิดและเฒ่า เป็นสัตว์อนุรักษ์จึงห้ามนำมาจำหน่าย คงเหลือแต่นกเขา และนกพิราบ เท่านั้น
การปล่อยสัตว์ในยุค สมัยนี้จึงมีบาปมากกว่าบุญ 1.เพราะปล่อยไม่ถูกที่ถูกทาง ทั้งสภาพความเป็นอยู่และศัตรูธรรมชาติ ทำให้สัตว์ที่ปล่อยไปไม่มีโอกาสรอดชีวิต 2.เพราะส่งเสริม ให้มีการจับสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติอย่างปกติสุขมากักขังหน่วงเหนี่ยว ทรมาน 3.ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การจับ กักขัง ขนส่ง และรอจำหน่าย มีสัตว์จำนวนมากต้อง ตายอย่างทรมานก่อนที่จะได้รับอิสรภาพ
ด้วยความเชื่อนั้นแหละดังตัวอย่างมีผู้หญิงคนหนึ่งถูกหมอดูทักว่า จะได้รับเคราะห์ในช่วงวันปี๋ใหม่เมืองนี้ ทางแก้เคล็ดก็คือ การทำบุญปล่อยนก ปล่อยหอย ที่วัดเท่านั้น ทางผู้หญิงคนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะไปหาหอย หานกที่ไหนไปปล่อย จึงว่าจ้างชายขี้เมา ข้างบ้านให้ไปหาหอย 1 ลิตรให้ 100 บาท และหานกกระติ๊ด มา 1 คู่ให้อีก 100 บาท ดังนั้นชายขี้เมา ก็ไปหาหอยในหนองน้ำ และหานกกระติ๊ด ที่กำลังกกลูกอยู่ในรังบนต้นดอกไม้ข้างบ้านนำมาให้ ผู้หญิงคนดังกล่าว เพื่อนำไปปล่อยวัดที่อยู่ห่างไกล
“การทำบุญประเภทนี้ถือว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง ปล่อยหอยลงแม่น้ำหอยก็ตาย เพราะธรรมชาติของหอยอยู่ในหนองน้ำที่มีโคลนตม ส่วนนกกระติ๊ด ก็เช่นเดียวกันชายขี้เมาที่ไปจับมันในรังขณะกกลูกน้อยมา ลูกน้อยก็ตายไม่มีแม่คอยเลี้ยงและคุ้มกันภัย เมื่อนำแม่นกไปปล่อยที่อยู่ห่างไกลบ้าน แม่นกก็กลับบ้านไม่ถูกเผลอๆอาจไปตายเสียด้วยซ้ำ”
ทีนี้มาฟัง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ได้สรุปเรื่องการทำบุญปล่อยชีวิตสัตว์ไว้อย่างเหมาะสมยิ่ง ดังข้อความต่อไปนี้
หากพิจารณาในเรื่องของบุญบาปตามหลักพุทธศาสนา เคยบอกว่าการทำบุญปล่อยชีวิตสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ ต้องทำด้วยจิตมุ่งเป็นกุศลจริงๆ แต่ถ้านำสัตว์มาปล่อยแล้วอธิษฐานว่าสาธุ ขอให้การปล่อยนี้ ขอให้อายุยืน ขอให้ถูกหวย ขอให้หายซวย สิ่งนี้ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์เพราะมีเจตนาเคลือบแฝง เป็นการปล่อยเขาเพื่ออยากให้เราดีขึ้น เพื่ออยากให้เราหายทุกข์ หายโศก หายซวย อย่างนี้มันไม่ใช่การทำบุญ แต่เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นการลงทุนทางจิตวิญญาณก็ได้ เพราะเจตนาจริงๆ ไม่ได้ต้องการช่วยเหลือเขา แต่ต้องการช่วยตัวเองต่างหากโดยยืมชีวิตเขามาเป็นเครื่องมือ
ถ้าท่านเมตตาจริงๆ นะ ปล่อยให้นกอยู่บนฟ้า ปล่อยให้ปลาอยู่ในน้ำ นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ปล่อยให้สัตว์ได้อยู่อย่างสัตว์ นั่นแหละคือการปล่อยนกปล่อยปลาที่แท้จริง
เสน่ห์ นามจันทร์/รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น