สดร. สุดเจ๋ง! สร้างเครื่องตรวจจับรังสีคอสมิกเพื่อการเรียนรู้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างเครื่องตรวจจับรังสีคอสมิกเพื่อการเรียนรู้ จัดแสดงแล้วที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อนาคตวางแผนติดตั้ง ณ หอดูดาวภูมิภาคทั่วประเทศ หวังให้เป็นสื่อการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทย สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงมุ่งใช้ดาราศาสตร์เป็นส่วนช่วยพัฒนาภาควิศวกรรมและอุตสาหกรรมของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิก หรือคลาวด์แชมเบอร์ (Cloud Chamber) ถือเป็นหนึ่งในสื่อการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถแสดงให้เห็น และยืนยันถึงการมีอยู่ของรังสีคอสมิก (Cosmic Rays) รังสีที่มีที่มาจากนอกโลก เกิดจากการยุบตัวของใจกลางดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ หรือหลุมดำมวลยิ่งยวดบริเวณแกนกลางของกาแล็กซี มีพลังงานสูงและเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ใกล้เคียงความเร็วแสง เมื่ออนุภาครังสีคอสมิกชนเข้ากับชั้นบรรยากาศของโลก จะแตกตัวออกเป็นอนุภาคได้อีกหลายชนิด แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ ทาง สดร. จึงเกิดแนวคิดนำเครื่องตรวจจับรังสีคอสมิก มาเป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับเยาวชน โดยมีเจ้าหน้าที่ของสถาบัน เป็นผู้ศึกษาค้นคว้า ทดลอง และลงมือประดิษฐ์เองทุกขั้นตอน
เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิก แสดงให้เห็นอนุภาครังสีคอสมิก ได้ด้วยไอระเหยของแอลกอฮอล์ที่อิ่มตัวอยู่ทั่วเครื่องมือ ไอระเหยที่สัมผัสกับความเย็น จะเกิดการควบแน่นเป็นละอองตกลงมาด้านล่าง เมื่ออนุภาครังสีคอสมิกเคลื่อนที่ผ่านละอองเหล่านั้น จะทำให้เกิดการควบแน่นได้เร็วยิ่งขึ้น ตามแนวการเคลื่อนที่ของอนุภาค ปรากฏเป็นร่องรอยทิ้งเอาไว้ หลากหลายรูปแบบ บ่งบอกถึงอนุภาคที่แตกต่างกันไป ในแต่ ละชนิด ดังนี้
Alpha Particles ลักษณะเส้นสั้นและหนา แสดงถึงอนุภาคอัลฟา เกิดจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีบนโลก อนุภาคอัลฟามีประจุไฟฟ้าสูงและมีมวลค่อนข้างมาก จึงเคลื่อนที่ช้าและเคลื่อนที่ได้ไม่ไกล สามารถสังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ของอนุภาคได้ชัดเจน เนื่องจากเคลื่อนที่ช้ากว่าอนุภาคชนิดอื่น ๆ
Muons ลักษณะเส้นตรงและยาว เกิดจากอนุภาค
มิวออน เป็นอนุภาคที่มีประจุลบและมีมวลมาก เกิดขึ้นเมื่อรังสีคอสมิกเข้าชนกับชั้นบรรยากาศโลก เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากจึงไม่ถูกอนุภาคอื่นๆ เบี่ยงเบียนเส้นทาง และทิ้งร่องรอยไว้เป็นเส้นตรงยาว
Particles Decays ลักษณะเส้นหัก แตกกิ่ง หรือเปลี่ยนทิศทาง เกิดขึ้นเมื่ออนุภาครังสีคอสมิกอ่อนแรงและกำลังสลายตัวเป็นอนุภาคอื่นๆ
Electrons and Positrons ลักษณะเส้นคดงอ เกิดจากอิเล็กตรอนและโพสิตรอน หรือรังสีเบต้า ซึ่งเป็นอนุภาคมวลเบา สามารถชนและสะท้อนกับอนุภาคอื่นๆ ได้ง่าย จึงปรากฏทิศทางที่สะเปะสะปะ คดเคี้ยวไปมา รังสีเบต้าเกิดจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี และการชนกันระหว่างรังสีคอสมิกกับโมเลกุลในชั้นบรรยากาศ
สดร. ดำเนินการให้บริการทางวิชาการและสื่อสารดาราศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เยาวชนสนใจวิทยาศาสตร์ ปัจจุบัน สดร. ได้ก้าวไปสู่การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม ด้วยการพัฒนาบุคลากรชาวไทย ให้สามารถออกแบบและสร้างอุปกรณ์ ทางดาราศาสตร์ระดับสูงด้วยตัวเอง เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยี จากต่างประเทศ เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่มุ่งขับเคลื่อนให้ภาควิศวกรรมและอุตสาหกรรมของไทย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ในอนาคต สดร. มีแผนติดตั้งเครื่องตรวจจับรังสีคอสมิก ณ หอดูดาวภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก รวมถึงอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานใหญ่ เบื้องต้นผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิกได้ที่ อาคารนิทรรศการ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ภายในมีนิทรรศการแบบปฏิสัมพันธ์ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ แสงและสเปกตรัม แบบจำลองการหมุนรอบตัวเอง ของดาวเคราะห์แก๊ส เฟสและหลุมดวงจันทร์ การชั่งน้ำหนักตัวบนดาวเคราะห์ต่าง ๆ เป็นต้น เปิดบริการวันอังคาร – อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามเพิ่มเติม โทร. 084-0882264 หรือ www.NARIT.or.th , www.facebook.com/NARITPage
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-212 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250 E-mail: [email protected] Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth , Instagram : @NongEarthNARIT

ร่วมแสดงความคิดเห็น