หายนะเชียงใหม่ ไม่ปกป้องไชยมงคล เมื่อลำน้ำแม่ข่าเป็นคลอง-ทางน้ำเสีย

ย้อนไปเมื่อ 722 ปี ราวๆพศ.1839 “พญามังราย” ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงค้นพบชัยภูมิวิเศษสุดในการสร้างบ้านเมือง หนึ่งใน 7 ไชยมงคลมีขุมแม่น้ำข่า สายน้ำที่มีต้นกำเนิดจาก ดอยสุเทพ ผืนป่าอันศักดิ์สิทธิ์ มีลำห้วยธรรมชาติหลายสาย ไหลมาบรรจบกันผ่านต.ดอนแก้ว เขตอ.แม่ริม มายังเขต ทน.เชียงใหม่ ทต.ป่าแดด ทต.แม่เหียะ อ.เมือง จนถึงเขตทต.สันผักหวาน แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง ในเขต ต.สบแม่ข่า อ.หางดง ระยะทางกว่า 31 กม. ในเขตนครเชียงใหม่มีระยะถึง 11 กม.เป็นลำน้ำที่เสมือนปราการปกป้องเมืองชั้นนอกด้านทิศใต้ และทิศตะวันออก หลังสร้างเมืองมา 155 ปี สายน้ำสำคัญเคียงคู่น้ำแม่ปิง เพื่อหล่อเลี้ยง สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เมือง มีการขุดลอกลำน้ำที่แปรสภาพ เป็นคลองขนาดกว้าง 3-4 เมตร ลึก 1.5 เมตร

ต่อมาเมืองเติบใหญ่ ก้าวหน้าไปตามยุคสมัย จากสภาพเมื่อ 50-60 ปีที่ผ่านมาคลองแม่ข่า ที่เคยมีน้ำใส ไหลเย็น เห็นตัวปลา ปรากฎว่าความเจริญของเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ได้สร้างปัญหาเมือง ไม่แตกต่างไปจาก คลองชองเกซอน ในกรุงโซล เกาหลี หรือแม่น้ำกาโม่ ที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ซึ่งกว่าจะพ้นสภาพคลองรับน้ำเน่าเสีย เป็นที่ทิ้งขยะ กลายสภาพเป็นคลองที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ล้วนผ่านอุปสรรคปัญหา และใช้เวลาในการฟื้นฟู พร้อมงบมหาศาล

การบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่อาจใช้ เงินงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเพียงด้านเดียว ยังต้องอาศัยความร่วมมือ การมีส่วนร่วมโดยทุกคนต้องลงมือทำ เรียนรู้ความผิดพลาดว่าคลองถูกทำลาย เสื่อมโทรมเพราะการรุกล้ำ ทิ้งขยะ ระบายน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือน และสถานประกอบการ แล้วชาวเชียงใหม่จะร่วมใจ ฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้กลับมามีคุณค่า เป็นไชยมงคลและเป็นเอกลักษณ์ของเมือง อีกครั้งอย่างไร

“คลองแม่ข่า” ผ่านวันเวลาของการปลุกกระแส เพื่อร่วมแก้ปัญหามานานหลายสิบปี มีแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำแม่ข่าแบบบูรณาการมีมติ ครม. เมื่อ 15 มค. 2555 เห็นชอบในหลักการจัดทำ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูน้ำแม่ข่า วางยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำคลองแม่ข่า ยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ ฟื้นฟูคุณค่าทางประวัติศาสตร์ พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน และทุกภาคส่วนร่วมกำหนดมาตรการบริหารจัดการและมาตรการด้านกฎหมาย

โดยเชื่อมโยงยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ด้านพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้ชุมชนเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อม ตลอดจนงานวิจัยศึกษา ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคลองแม่ข่า แต่จะมีความเป็นไปได้สักเพียงใด หากรู้ต้นตอปัญหา แล้วไม่ร่วมใจเดินหน้า พัฒนา ฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องทุกวันนี้ คลองแม่ข่า เป็นเพียงเรื่อง….ตามกระแส..วาระจรที่รอคอยงบศึกษาพัฒนา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่สามารถบังคับใช้มาตรการทางสังคม มาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมกับการวางรากฐานสู่การแก้ปัญหา พัฒนาอย่างยั่งยืนได้เลย

ฉัตรบวร…..รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น