ตลาดไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ รายเก่าไปรายใหม่มาลุยปลูกขาย

วงการไม้ดอก ไม้ประดับ ในบ้านเราได้รับผลกระทบ ไม่แตกต่างไปจากธุรกิจด้านอื่น ที่ความทันสมัยทางเทคโนโลยี่เข้ามาเกี่ยวข้อง จากเดิมที่ส่งดอกไม้ช่อใหญ่ไปอวยพร ก็ใช้กราฟฟิครูปดอกไม้แบบเก๋ไก๋ส่งผ่านแอพพลิเคชั่น ช่องทางสื่อสังคมได้รวดเร็ว โดนใจผู้รับพอๆกัน

กลุ่มงานส่งเสริมไม้ดอกและไม้ประดับ กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลว่าไม้ดอกไม้ประดับ เป็นอีกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกสูงถึง 3,760 ล้านบาท แยกเป็น กล้วยไม้ 2,582 ล้านบาท โดยตัดดอกส่งมูลค่า 2,312 ล้านบาท ถ้าเป็นส่วนที่ขายกิ่งชำ ต้นกล้า ต้นกล้วยไม้ราวๆ 270 ล้านบาท ไม้ประดับอื่นๆ 674 ล้านบาท นอกนั้นเป็นไม้ตัดใบ เมล็ดพันธุ์ ตลาดส่วนใหญ่ส่งไปที่ญี่ปุ่น,จีน,ยุโรป,สหรัฐอเมริกา

แต่ไทยก็ยังต้องนำเข้า ไม้ดอกไม้ประดับซึ่งมีมูลค่ารวมราวๆ 1,214 ล้านบาท จะเป็นกล้วยไม้ 16 ล้าน ไม้ตัดดอกที่นิยมกันซึ่งผลิตไม่เพียงพอ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย จะเป็นกลุ่มไม้ดอกเมืองหนาวเป็นส่วนใหญ่
เช่น ดอกเบญจมาศ จะสั่งจากมาเลเซีย ดอกไม้สดจากจีน, เนเธอร์แลนด์

ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูก กล้วยไม้ตัดดอกประมาณ 20,629 ไร่ เบญจมาศกว่า 2 พันไร่มะลิเด็ดดอก 9,500 ไร่ ดาวเรือง 9,500 ไร่ กุหลาบ 4,500 ไร่ เป็นต้น และยังมีปลูกไม้จัดสวน ไม้ชำถุง ไม้ตัดใบ 23,962 ไร่

แหล่งผลิตกระจายทั่วประเทศ แต่ถ้าภาคเหนือจะมีพื้นที่ปลูกมากที่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก จะปลูกไม้ดอกไม้ประดับในกลุ่มไม้เมืองหนาว เช่น คาร์เนชั่น, เบญจมาศ, กุหลาบ, ดาวเรือง กล้วยไม้

ผศ.ดร.พาวิน มะโนชัย ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลศูนย์กล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ม.แม่โจ้กล่าวว่า ตลาดไม้ดอกไม้ประดับในเชียงใหม่ ในภาคเหนือ โดยรวมยังจัดว่าดี มีผลผลิตป้อนตลาดแทบไม่เพียงพอ


กระบวนการส่งเสริมความรู้ ทั้งในส่วนหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนก็พยายามขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นกลุ่มพืชเศรษฐกิจทางเลือกของเกษตรกร

สำนักงานเกษตรอำเภอสันทราย เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ปีนี้เกษตรแปลงใหญ่ (ไม้ดอกไม้ประดับ)เป็นอีกโครงการที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งทำในพื้นที่ 20 จังหวัด 35 แปลง จะเป็นไม้ดอกไม้ประดับ 19 จังหวัด ซึ่งเชียงใหม่ ก็อยู่ในพื้นที่ดำเนินการ

ด้าน นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าที่ผ่านๆมา จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ส่งเสริมตลาดไม้ดอกไม้ประดับ ผ่านกิจกรรม แผนงาน โครงการต่างๆมากมาย ทั้งการจัดงานไม้ดอกไม้ประดับทุกปี รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายการเกษตร รูปแบบยังสมาร์ท ฟาร์มเม่อร์ เพราะเชียงใหม่มีศักยภาพ ด้านไม้ดอกไม้ประดับสูงมากอีกแหล่งผลิตของไทย

ผู้ประกอบการค้าเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ รายใหญ่ ย่าน ม.5 ต.หนองหาร อ.สันทราย เชียงใหม่ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า การส่งเสริมการเพาะปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจทั้งรายย่อย ขนาดกลางและรายใหญ่ๆนั้น จะมีครบวง จร ตั้งแต่ขายกล้า ดูแลแปลงตั้งแต่ปลูกจนได้ผลผลิต พร้อมรับประกันรับซื้อ

แต่ปัญหาที่พบนั้นคือ เกษตรกรรายย่อยจะขาดความมั่นใจ ในตลาดไม้ดอกไม้ประดับ ไม่ศึกษาความต้องการของตลาดในการเพาะปลูกพืชผล ทำให้ปริมาณผลผลิต ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด แรงงานเริ่มหายาก มีค่าจ้างสูงขึ้น ปัจจัยการผลิตพวกปุ๋ย สารเคมีป้องกัน กำจัดศัตรูพืช แพงขึ้น ในขณะที่ราคาผลผลิตคงที่หรือต่ำลง

ผลผลิตบางช่วงเวลา มีไม่พอกับความต้องการของตลาดเช่น ช่วงฤดูแล้งผลผลิตน้อย แต่มีเทศกาลที่ต้องใช้ไม้ดอก ไม้ประดับ ทำให้เสียโอกาส ที่สำคัญถ้ากลุ่มไม้ดอกไม้ประดับกลุ่มใด ขายดีก็แย่งกันปลูก มีการตัดราคา ทำให้ได้ราคาต่ำลง ส่งผลให้รายเก่าเลิกทำ รายใหม่ๆก็ลองทำ พอไม่คุ้มทุนก็เลิกไปทำอย่างอื่น

ภาครัฐฯต้องส่งเสริม การรวมกลุ่มของเกษตรกร และสร้างระบบเชื่อมโยงความรู้ ข้อมูล ประสบการณ์ ส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ คิดและวางแผปน นำเทคโนโลยี่มาใช้ทดแทนการจ้างแรงงาน ซึ่งจะลดต้นทุนได้มาก สามารถวิเคราะห์ และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มรายได้ สามารถการแข่งขันในตลาดทุกระดับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น