เชียงใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ปลูกต้นไม้วันสถาปนาศาลยุติธรรมท่ามกลางกระแสต่อต้าน

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 21 เมษายน 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ขึ้นบริเวณด้านหน้า และด้านข้างของอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 หลังใหม่ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาศาลยุติธรรมครบรอบ 136 ปี เป็นแนวยาวไปถึงดันหน้าของอาคารชุดบางอาคารที่อยู่ใกล้กับด้านหลังของอาคารศาล โดยได้นำต้นราชพฤกษ์ เหลืองอินเดีย ต้นพะยูง กัลปพฤกษ์จำนวนรวม 300 ต้นมาร่วมกันปลูก โดยมีนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกาซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ให้เกียรติมาร่วมปลูกต้นไม้กับทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วย
ทั้งนี้ทาง นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 เปิดเผยว่า กิจกรรมปลูกต้นไม้ในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มของทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในรูปแบบจิตอาสาในการคืนพื้นที่สีเขียวให้แก่อาณาบริเวณโดยรอบเนื้อที่ 89 ไร่โดย ใช้เงินจากกองทุนปลูกต้นไม้ที่จัดตั้งขึ้นจากเงินบริจาคของผู้พิพากษา คณะบุคคลที่มาร่วมปลูกป่าในครั้งนี้ประกอบด้วยบรรดาผู้พิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ผู้พิพากษาในศาลต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่และข้าราชการศาลยุติธรรมของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งพักอาศัยอยู่ในอาคารชุดที่อยู่ด้านหลังของอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทั้งหมด 13 อาคารตลอดจนเจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ,สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ,องค์การสวนพฤกษศาสตร์เชียงใหม่, องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อีกทั้งเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จังหวัดเชียงใหม่ที่นำกล้าไม้มาให้และร่วมการปลูกต้นไม้ในวันนี้
ซึ่งหลังจากนี้เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนประมาณต้นเดือนมิถุนายนก็จะเริ่มทยอยปลูกต้นไม้ในส่วนที่อยู่ถัดไปในกลุ่มของอาคารชุดทั้ง 13 อาคารหรือส่วนที่ลาดชันที่มีการตักหน้าดินออกไปก็จะมีการปลูกหญ้าแฝกส่วนบริเวณอื่นๆก็จะมีการปลูกต้นตะแบกศีลาพิกุลเป็นต้นต่อจากนั้นจบก็จะขยายแนวปลูกออกไปจนเต็มเนื้อที่ของโครงการ
ทั้งนี้กิจกรรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมแรกจากทางฝั่งของทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จัดขึ้นท่ามกลางกระแสการคัดค้าน และเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่ต้องการให้รื้อถอนอาคารบ้านพักของเจ้าหน้าที่ศาลที่สร้างขึ้นในพื้นที่ป่าของดอยสุเทพ แม้ว่าตามเอกสารจะเป็นพื้นที่ของธนารักษ์ก็ตาม
อย่างไรก็ตามช่วงที่มีการปลูกต้นไม้ด้านใน บริเวณด้านหน้าได้มีเครือข่ายภาคประชาชนที่เคลื่อนไหว 2 คนโดยการนำของนายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร ที่เคยจะเดินจากเชียงใหม่ไปเรียกนายกที่กรุงเทพแต่ล้มเลิกภาระกิจไปก่อน นำป้ายไวนิล ที่มีข้อความระบุว่า “พ่อสอนให้พอเพียง แต่ท่านสร้างอย่างหรูหรา ทำไมต้องมาเบียดบังเอาผืนป่าของเราด้วย ทำเป็นมาปลูกป่า-น่าไม่อายเลยจริงๆ ลักหลับยักยอกป่า…น่าละอาย ท่านเหยียบย่ำกล่องดวงใจของหมู่เฮา กลับตัว-กลับใจเสียเถอะ ประชาชนยังให้อภัย ทำการฝ่าฝืนพระบรมราโชวาท-นี่หรือคือพอเพียง ปู่แสะ-ย่าแสะ จะไปบีบคอ” ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยว่า เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่จะทำต่อเนื่องควบคู่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกลุ่มใหญ่ คือเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งในวันนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ หลังจากที่วานนี้ได้ คณะกรรมการร่วมประกอบด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ประกอบด้วย ตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่, ชลประทานเชียงใหม่, ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย, ป่าไม้ และเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้ ทำรายงานสรุปผลการสำรวจและกำหนดแนวเขตให้กับแม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีที่มีกำหนดพิจารณาตัดสินใจกรณีปัญหานี้ในวันที่ 29 เม.ย.61

ร่วมแสดงความคิดเห็น