แนะกฎป้องกันฟ้าผ่า!! เตือนอย่าอยู่ที่โล่งแจ้ง-ใต้ต้นไม้ ช่วงเกิดพายุฤดูร้อนถล่มอีกละลอก “เม.ย.”นี้ ฟ้าผ่า 4 ศพแล้ว

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2561 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในเดือนเม.ย.นี้ ได้รับรายงานผู้เสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า4 ราย และจากข้อมูลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่าเหตุการณ์ผู้ที่ถูกฟ้าผ่าส่วนใหญ่มีประวัติถูกฟ้าผ่าในขณะอยู่ใต้ต้นไม้ รองลงมาคือขณะอยู่ในกระท่อมกลางนา และในบริเวณที่โล่งแจ้ง และส่วนใหญ่จะเกิดในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดังนั้นจากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่าในช่วงนี้อาจมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่าได้ เพราะประเทศไทยมีพายุฤดูร้อนเป็นระยะๆ ไปจนถึงเดือน พ.ค. ทำให้บางพื้นที่มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และเกิดฟ้าผ่าขึ้นได้
นพ.สุวรรณชัย  กล่าวต่อว่า ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 24-27 เม.ย.นี้ จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นอีกครั้งทางกรมควบคุมโรคขอแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า คือ กฎ 30/30 ดังนี้ หากอยู่ในที่โล่งแจ้งแล้วเกิดฟ้าแลบ ได้ยินเสียงฟ้าร้องตามมาในเวลาไม่เกิน 30 วินาที แสดงว่าฝนฟ้าคะนองอยู่ใกล้พอที่เกิดฟ้าผ่าทำอันตรายได้ ให้หาที่หลบที่ปลอดภัยทันที โดยเป็นสิ่งปลูกสร้างที่แข็งแรง และเมื่อพายุฝนฟ้าคะนองหยุดแล้ว ไม่มีเสียงฟ้าร้อง ควรรอในที่หลบอีกอย่างน้อย 30 นาที จึงออกมาได้ เพื่อให้พายุผ่านพ้นไปหรือสลายตัวไปก่อน แต่หากไม่สามารถหาที่หลบได้ ให้นั่งยองให้ตัวต่ำที่สุดและเท้าชิดกันและเขย่งปลายเท้า หลีกเลี่ยงการอยู่ใต้ต้นไม้สูงและสิ่งนำไฟที่มีลักษณะสูง เช่น เสาไฟ หรือใกล้ผนังอาคาร หากมีรถยนต์ควรหลบเข้าไปอยู่ในรถ ปิดประตูและกระจกหน้าต่างให้สนิท อย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ จะสามารถป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้
ส่วนโทรศัพท์มือถือ ถึงแม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า แต่หากกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าเข้ามาในโทรศัพท์มือถือก็อาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ ดังนั้น จึงควรปิดโทรศัพท์ไร้สาย รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขณะเกิดพายุ หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วน1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น