บุกรุกทำลาย”ผืนป่าเชียงใหม่” เร็วๆนี้อาจต้องสร้าง”ป่าจำลอง

รายงานกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (องค์กรพัฒนาเอกชน) ล่าสุดเผยหลักฐานการครอบครองที่ดินพบว่า บางกลุ่มตระกูลในไทย ถือครองที่ดินมากกว่า 630,000 ไร่ และอีก 10 ตระกูลดัง ถือครองที่ดิน 5 พันถึง 2 แสนไร่ ในทำเลทองทั่วไทย รวมถึงเชียงใหม่
ที่น่าสนใจคือ กลุ่มนักการเมืองถือครองที่ดินมากกว่าพันไร่ มีมากถึง 8-9 ร้อยราย มูลค่าถือครองที่ดินรวมกันราวๆ 15,669 ล้านบาท บางรายถือครองที่ดินมูลค่าสูงกว่า 3 พันล้านบาท
อ.ดวงมณี เลาวกุล นักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ เคยนำเสนอภาพรวมที่ดินไทย ในเวทีสมัชชาความมั่นคงทางอาหารฯ ว่าไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 319.82 ล้านไร่ แบ่งเป็น กรมที่ดิน 130.74 ล้านไร่ , สปก. 34.76 ล้านไร่ ,ที่ราชพัสดุ 9.78 ล้านไร่ การรถไฟ (ร.ฟ.ท.) 234,976.96 ไร่ ในขณะที่เป็นป่าสงวนฯ เพียง 144.54 ล้านไร่

ข้อมูลมูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทย ระบุว่าไทยมีเอกสารสิทธิที่กรมที่ดินออกไป 127 ล้านไร่ กว่า 90% กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนเพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ หรือแค่ 6 ล้านคน ที่น่ากังวลคือ คนไทยประสบปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน 3-4 ล้านคน แบ่งเป็นกรณีไม่มีที่ดินทำกินเกือบ 2 ล้านคน กรณีมีที่ดินทำกิน แต่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ 7-8 แสนคน และกรณีมีที่ดิน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิอีกเกือบล้านคน
กว่า 70 % ของที่ดินในไทย ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ และมีส่วนหนึ่งถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกที่เอกชนที่รกร้าง ปล่อยทิ้งมานาน ที่ป่าหวงห้าม สงวนไว้เพื่อระบบนิเวศน์ ธรรมชาติ ป่าสงวนฯ เขตอุทยานฯ เป็น ต้น
ข้อมูลจากระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จ.เชียงใหม่ ระบุการใช้ที่ดินในเชียงใหม่ จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 3,020,441.74ไร่ หรือร้อยละ 22.05 แหล่งน้ำ136,150.24ไร่ หรือ 0.99% ที่อยู่อาศัย 461,032.86 ไร่ หรือร้อยละ 3.37 อื่นๆ ประมาณ 217,352.95 ไร่ รวม13,700,715. 82 ไร่
จ.เชียงใหม่ อยู่ในลุ่มน้ำปิงตอนบน เดิมมีพื้นที่ป่าไม้ 21,921.15 ตร.กม เป็นจังหวัดที่มีผืนป่าประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าประเภทสวนป่า พื้นที่ป่ารอฟื้นฟูตามสภาพธรรมชาติ รวมพื้นที่ป่าไม้ล่าสุด 17,064.86 ตร.กม. หรือ 10,665,538 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.02 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ
โดยลุ่มน้ำสาขาแม่ตื่น เป็นลุ่มน้ำที่คงความอุดมสมบูรณ์ ด้านป่าไม้มากที่สุด ในขณะที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่ และเป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำปิง เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม มีสัดส่วนพื้นที่ป่าเหลือน้อยที่สุด
นอกจากนั้นยังมีป่าสงวนฯในพื้นที่ ทั้งป่าดอยอินทนนท์ ,ป่าแม่ริม, ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเพิกถอนพื้นที่บางส่วนไป จนอาจเป็นความลงตัวทำให้มีหมู่บ้านป่าแหว่งขึ้นมา, ป่าแม่ออน,ป่าจอมทอง, ป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ,ป่าเชียงดาว ,และป่าแม่แจ่ม ที่มีการเพิกถอนพื้นที่บางส่วน สนับสนุนการปลูกพืชทางเลือก ข้าวโพด พืชเศรษฐกิจ เพื่อลดปัญหาการบุกรุก ทำลายป่าต้นน้ำ
ผืนป่าที่ถูกบุกรุกทำลาย ในเชียงใหม่ มีสภาพเป็นไปตามบริบทสังคม โดยอ้างแผนพัฒนาพื้นที่ ซึ่งต้องเลือกระหว่างคงผืนป่ากับการสร้างสิ่งที่เกิดประโยชน์ มีความจำเป็นต่อสังคม เช่น เขื่อน, อ่างเก็บน้ำ, ถนน , ศูนย์เรียนรู้ฯ,บ้านพักรับรอง,สวนสาธารณะ เป็นต้น หรือว่า ในอนาคตอาจต้องสร้าง ป่าจำลองที่เชียงใหม่ และหลายๆจังหวัด ให้คนไทยรุ่นต่อๆไป ได้ศึกษาเรียนรู้ ผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์บนผืนแผ่นดิน

ร่วมแสดงความคิดเห็น