พะเยา แปลก!! พบเพลี้ยข้าวตอกแตก หาดูยาก

ชาวบ้าน ม. 13 ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา แห่ดูเพลี้ยข้าวตอก ที่อยู่อาศัยเกาะตามใบไม้และลำต้น ต้นไม้ อยู่บริเวณป่าละเมาะซึ่งเป็นป่ารกร้างในหมู่บ้าน มีต้นไม้นาๆ ชนิด และที่แปลกตาหาดูได้ยาก คือเพลี้ยข้าวตอก เป็นแมลงขนาดเล็ก มีสีขาวมีขนปกปุยทั่วตัว อยู่อาศัยกันเป็นกลุ่ม พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย จากพฤติกรรมของเพลี้ยข้าวตอก เป็นชื่อภาษาท้องถิ่นเรียก
ส่วนภาคอื่น จะเรียกเพลี้ยจักจั่นรูปลิ่ม ที่มีตอบสนองการถูกคุกคาม มันจะดีดตัวออกจากที่ ที่มันเกาะอยู่เพื่อหนีศัตรู และจากการที่มันมีแพนหาง และผงแป้งปกคลุมลำตัว จึงดูคล้ายข้าวตอกแตก มันเลยถูกตั้งฉายาว่า “แมลงข้าวตอก” ในชนบทบางแห่ง มีการนำเอาตัวอ่อนของเพลี้ยข้าวตอก หรือเพลี้ยจักจั่นรูปลิ่ม มาล้างผงแป้งออก แล้วนำไปประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ทอด ตำน้ำพริก หรือนำไปแกง
นาย สมคิด วันดี ชาวบ้าน ต.ท่าวังทอง กล่าวว่า ตนเองออกหาของป่าอยู่แถวนี้บ่อยๆ ก็พึ่งมาเจอเพลี้ยข้าวตอก หรือเพลี้ยจักจั่นรูปลิ่ม ซึ่งเกิดมาพึ่งเคยเห็นและหาดูได้ยาก เนื่องจากปัจจุบัน ชาวบ้านมีการใช้สารเคมีกันมาก ทำให้เพลี้ยข้าวตอก จักจั่นรูปลิ่มสูญพันธ์ุไปเกือบหมด สำหรับเพลี้ยจักจั่นรูปลิ่มเป็นแมลงที่กินน้ำเลี้ยงของต้นพืชเป็นอาหาร จึงมีปากเป็นแบบเจาะดูด ขณะที่ตัวเต็มวัยเกาะตามกิ่งไม้ มันจะหุบปีกแนบลำตัว ลักษณะของปีกเป็นแบบเยื่อทึบ มีสีขาว หรือเขียว หรือ สีส้ม มีเส้นปีกแนวขวางอยู่บริเวณขอบปีก เพลี้ยเหล่านี้ยังเป็นแมลงศัตรูของพืชสวนประดับ และสวนผลไม้ เช่น ต้นสุพรรณิกา และโกโก้ เป็นต้น
สำหรับเพลี้ยข้าวตอกแตก หรือเพลี้ยจักจั่น มีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างเพลี้ยฯ และมด เป็นแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน ซึ่งมดจะคอยคุ้มครองและป้องกันเพลี้ยฯจากผู้ล่าต่างๆ โดยมดจะได้รับน้ำเลี้ยงที่เพลี้ยขับทิ้งเป็นอาหาร เพลี้ยจักจั่นรูปลิ่มจะวางไข่เป็นกลุ่ม ถูกวางหุ้มกิ่งไม้ขนาดเล็กและเกาะตัวอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นสีขาวโพลนปกคลุมดูสวยงาม แต่หากเมื่อมีใครรบกวนก็จะพากันตื่นตัวแตกกระจายเต้นเหมือนกับข้าวตอกแตก ดูแล้วเป็นที่แปลกตา ที่หาดูได้ยากยิ่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น