บสย. เปิดตัวเลขหลังลุยค้ำประกันสินเชื่ออุ้มผู้ประกอบการ ไทย ชี้ “ธุรกิจบริการ” ครองแชมป์ยอดค้ำประกันสูงสุด 5.44 พันล้านบาท

บสย. เปิดตัวเลขหลังลุยค้ำประกันสินเชื่ออุ้มผู้ประกอบการ ไทย ชี้ “ธุรกิจบริการ” ครองแชมป์ยอดค้ำประกันสูงสุด 5.44 พันล้านบาท พร้อมเดินหน้าปรับปรุงเทคโนฯ สารสนเทศรองรับแผนงานการอนุมัติให้เร็วขึ้นจาก 3 วันเหลือ 1 วัน
นางนิภารัตน์ พิสิฐพิทยเสรี รักษาการแทน ผจก.ทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน การค้ำประกันสินเชื่อในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 ว่า ยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ อยู่ที่ 2.33 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 95% จากเป้าหมายที่ 2.45 หมื่นล้านบาท โดยมีจำนวนหนังสือค้ำประกัน อยู่ที่ 3.17 หมื่นฉบับ โดยจากตัวเลขการอนุมัติค้ำประกัน สินเชื่อสูงสุด 5 หมวดธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการ 5.44 พันล้านบาท คิดเป็น 23%  2. ธุรกิจผลิตสินค้าและการค้าอื่น ๆ 2.71 พันล้านบาท คิดเป็น 11%  3. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2.31 พันล้านบาท คิดเป็น 9%  4. ธุรกิจเกษตรกรรม 2.16 พันล้านบาท คิดเป็น 9% และ  5. ธุรกิจเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร 2.02 พันล้านบาท คิดเป็น 8%
“เป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อในปี 2561 อยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท โดยจากสถิติที่ผ่านมา พบว่า ยอดการค้ำประกันสินเชื่อจะเพิ่มสูงขึ้นมาก ในเดือน มี.ค., พ.ค., มิ.ย. และ ก.ย. เป็นหลัก และเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะสามารถค้ำประกันสินเชื่อได้มากขึ้น ขณะที่ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปัจจุบันอยู่ที่ 13.4% หรือ 4.8 หมื่นล้านบาท” นางนิภารัตน์ กล่าว
นายวรเชษฐ วรกุล รอง ผจก.ทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. เปิดเผยว่า แผนงานในไตรมาสา 2 ของ บสย.ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับ การดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS7 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเงื่อนไขจะมีการปรับจากเดิมเล็กน้อย คือ จะฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสำหรับลูกค้า กลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก หลังจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ทวีทุน (PGS6) ปรับปรุงใหม่ วงเงิน 8.1 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ยังมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ รองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกอีก 2.6 หมื่นล้านบาท โดยโครงการจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.61
นอกจากนี้ บสย. ยังได้เตรียมเสนอกระทรวงการคลัง พิจารณาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท หลังจากโครงการในระยะที่ 2 วงเงิน 1.35 หมื่นล้านบาท เหลือวงเงินให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการอีกเพียง 600 ล้านบาท เท่านั้น ส่วนความคืบหน้าของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Non Bank นั้น ปัจจุบันมี 2 ธนาคารให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าทั้ง 3 โครงการใหม่นี้จะสามารถดำเนินการได้ ในไตรมาสที่ 3 ปี 61
นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ รองผู้จัดการทั่วไป บสย. เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการค้ำประกันสินเชื่อ และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยในปีนี้จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิ ภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รองรับแผนงานการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อให้เร็วขึ้นจาก 3 วัน เป็น 1 วันทำการ โดยเบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการ ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือน มิ.ย.61

ร่วมแสดงความคิดเห็น