คุณสมบัติผู้ที่ไม่ควร ได้รับการบรรพชามีใครบ้าง

วันนี้จะขอนำเสนอตอนสุดท้าย ที่เกี่ยวเนื่องกับการบวช โดยจะกล่าวถึงคุณสมบัติของ “ผู้ที่ไม่ควรได้รับการบรรพชา” มีดังนี้ครับ 3) ผู้ที่ไม่ควรได้รับการบรรพชานั้น ถือว่าเป็นผู้ไม่ควรได้รับการอุปสมบทด้วย เพราะการอุปสมบทนั้น เป็นพิธีที่ต้องผ่านการบรรพชามาก่อน 
สำหรับบุคคลที่ไม่ควรได้รับการบรรพชานั้น แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ครับ
ประเภทที่ 1 ผู้ที่มีพันธะและผู้ทำผิดกฎหมาย ได้แก่ มารดาบิดาไม่อนุญาต มีหนี้สินเป็นทาส ข้าราชการที่ไม่ได้รับอนุญาต โจรผู้ร้ายคนที่ถูกออกหมายจับ เป็นต้น
ประเภทที่ 2 ผู้พิการหรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ ได้แก่ มือเท้าด้วน หูขาด นิ้วขาด เอ็นขาด จมูกแหว่ง นิ้วติดกันเป็นแผ่น ตาบอด ใบ้หูหนวก ง่อย เปลี้ย คอพอก ค่อม เตี้ยเกินไปเท้าปุก ชรา ทุพพลภาพ รูปร่างไม่สมประกอบ คนกระจอกคือฝ่าเท้าไม่ดีต้องเดินเขย่ง เป็นต้น
ประเภทที่ 3 ผู้ที่ป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง ได้แก่ โรคอัมพาต โรคเรื้อรัง โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคลมบ้าหมู โรคมองคร่อ (โรคที่มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านหลอดลม) โรคเหล่านี้ถือว่าเป็นโรคร้ายแรงในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ป่วยจึงไม่ควรที่จะเข้ามาบวช
แต่ในปัจจุบันมีโรคร้ายแรงต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น ผู้ป่วยโรคนี้ก็ไม่ควรให้บวชเช่นกัน
นั่นคือคุณสมบัติของผู้บวชในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงให้หลักการเอาไว้ มาเป็นแนวทางในการคัดกรองกุลบุตรผู้มีศรัทธา เพื่อการบวชอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย
อนึ่ง คอลัมน์นี้จะให้เฉพาะข้อมูล และข่าวสาร ความรู้เท่านั้น ผมจะไม่มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้นครับ – ผู้เรียบเรียง

ข้อมูล : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.9
……………………….
หมายเหตุ : คำว่า “เถรภูมิ” (เถ ระ พูม) เป็นคำนาม หมายถึง ขั้นหรือชั้นแห่งพระเถระ, ทางคณะสงฆ์จัดภิกษุเป็น 3 ชั้น ชั้นต้น คือ นวกภูมิ (นะ วะ กะ พูม) (ชั้นใหม่) มีพรรษาต่ำกว่า 5, ชั้นกลาง คือ มัชฌิมภูมิ (ชั้นกลาง) มีพรรษาตั้งแต่ 5 ถึง 9 และชั้นสุด คือ เถรภูมิ (เถ ระ พูม) (ชั้นพระเถระ) มีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไป
ข้อมูล : ราชบัณฑิตฯ

ร่วมแสดงความคิดเห็น