9 พ.ค.สดร. ชวนชม “ดาวพฤหัสบดี ใกล้โลกที่สุดในรอบปี”

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 9 พ.ค.นี้ “ดาวพฤหัสบดี ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” โอกาสดีเห็นได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า สว่างสุกใส สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะเห็นแถบเมฆและดวงจันทร์บริวารหลัก 4 ดวงได้ชัดเจน เชิญชวนประชาชนร่วมชมแบบเต็มตา พร้อมชมสุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ที่เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา และสงขลา พร้อมโรงเรียนเครือข่ายอีกกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ในช่วงรุ่งเช้าวันที่ 9 พ.ค.61 เวลาประมาณ 07:10 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ระยะทางประมาณ 658 ล้าน กม. หรือ 4.40 หน่วยดาราศาสตร์ วันดังกล่าวดาวพฤหัสบดี จะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้า สว่างสุกใส สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ -2.5 (ความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวง ประมาณ -12.6) และหลังจากนี้ เรายังสามารถชื่นชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดี ได้จนถึงเดือน ก.ย.
ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง จึงเป็นตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุด นอกจากนี้ การที่ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หมายถึงเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีก็จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และจะปรากฏบนท้องฟ้า ให้เรายลโฉมเป็นเวลายาวนานตลอดทั้งคืน จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 9 พ.ค.นี้ ดาวพฤหัสบดีจะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริ เวณกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 06.00 น. ในเช้าวันที่ 10 พ.ค. หากสังเกตด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทร   ทรรศน์ขนาดเล็ก จะเห็นดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี หรือที่เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลียน (Galilean Moons)
ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) รวมถึงแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีได้อีกด้วย และหากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้องตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้อย่างชัดเจน ซึ่งคืนวันที่ 9 พ.ค. จะสังเกตเห็นจุดแดงใหญ่ได้ตั้งแต่เวลา ประมาณ 19:00 – 20:00 น. และจะปรากฏอีกครั้ง ในเวลาประมาณ 02:00 – 06:00 น. ของวันที่ 10 พ.ค.
นอกจากการสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดี ที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปีแล้ว วันดังกล่าวยังมีปรากฏการณ์สุริยุ ปราคาบนดาวพฤหัสบดีให้ได้ติดตามกันด้วย โดยดวงจันทร์ยูโรปา จะโคจรผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี เกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี ในช่วงเวลาประมาณ 18:20-20:36 น. นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง และยังถือเป็นโอกาสดีในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์นอกห้องเรียน แก่นักเรียนและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงได้ ดร.ศรัณย์กล่าว
สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการประชาชนร่วมชม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” และ “ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี” ในวันที่ 9 พ.ค. ตั้งแต่เวลาประมาณ 18: 00-22:00 น. เชิญชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรมได้ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่
1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ สอบถามโทร. 081-8854353
2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา สอบถามโทร. 086-4291489
3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา สอบถามโทร. 084-0882264
4) สงขลา : ลานชมวิวนางเลือก หาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา สอบถามโทร. 095-1450411
นอกจากนี้ หน่วยงานเครือข่ายอีกกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์ในโครงการ “กระจายโอกาส 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ได้จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์และนำกล้องโทรทรรศน์ มาบริการประชาชนเช่นกัน ติดตามรายละเอียดและสถานที่จัดกิจ กรรมเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/NARITpage
“ตามปกติแล้วดาวพฤหัสบดี จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หรือใกล้โลกมากที่สุดเป็นประจำทุกปี ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เม.ย.61 และครั้งต่อไปในวันที่ 10 มิ.ย.62 ขนาดปรากฏของดาวพฤหัสบดีในช่วงที่โคจรมาใกล้โลกในแต่ละปี มีความแตกต่างกันไม่มากนัก เนื่องจากดาวพฤหัสบดีอยู่ไกลจากโลกค่อนข้างมาก ต่างจากดาวอังคารที่มีขนาดปรากฏใหญ่เล็ก แตกต่างกันในแต่ละปี (ระยะห่างเฉลี่ยจากโลกถึงดาวพฤหัสบดี 780 ล้าน กม. ระยะห่างเฉลี่ยจากโลกถึงดาวอังคาร 78 ล้าน กม.)
แต่การส่องกล้องโทรทรรศน์ชมดาวพฤหัสบดี ที่เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีโอกาสเห็นแถบเมฆที่เป็นพายุขนาดใหญ่บนดาวพฤหัสบดี จุดแดงใหญ่ จุดแดงเล็ก รวมทั้งดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบ ดีทั้งสี่ดวง เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ เยาวชน ได้เป็นอย่างดี” ดร.ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524

ร่วมแสดงความคิดเห็น