เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จัดเสวนาวิชาการ“ผลกระทบจากบ้านป่าแหว่ง สู่ระบบนิเวศ ชุมชน และสังคม”

วันนี้ 5 พ.ค.61 ที่วัดล่ามช้าง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ผลกระทบจากบ้านป่าแหว่ง สู่ระบบนิเวศ ชุมชน และสังคม” เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยน มุมมองทางวิศวกรรม ความเสี่ยงธรณีพิบัติน้ำป่าโคลนถล่ม และทางออก โดยมีวิทยากรที่เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ ดร.วสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม,นายโชติพัฒน์ ศรีภักดีพงศ์เดช เครือข่ายวิศวกรรักษ์ป่า,นายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

ทั้งนี้นายโชติพัฒน์ ศรีภักดีพงศ์เดช เครือข่ายวิศวกรรักษ์ป่า แสดงความเห็นว่า เบื้องต้นยังไม่เห็นแบบก่อสร้างบ้านพักตามโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตามมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้จากผู้ที่มีโอกาสเข้าไปสำรวจการก่อสร้างบ้านพักดังกล่าวพบว่าการทำฐานรากของบ้านพักเป็นแบบฐานรากแผ่วางบนชั้นดินไม่ใช่ชั้นหินแข็ง ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่งกับสภาพภูมิประเทศที่มีความลาดชันสูงและเป็นพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มอย่างเชียงใหม่ โดยหากมีฝนตกหนักจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาน้ำใต้ดิน ทำให้ดินเกิดการทรุดตัวและมีการเคลื่อนตัวสไลด์ลงได้ ดังนั้นบ้านพักดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนระเบิดเวลาและโดยส่วนตัวมีความเป็นห่วงผู้ที่จะเข้าไปอยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงกับการต้องเผชิญอันตรายจากภัยธรรมชาติ ทั้งไฟป่า น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ซึ่งอยากให้ฝ่ายก่อสร้างมีการชี้แจงขั้นตอนการก่อสร้างอย่างละเอียดโดยเฉพาะในส่วนฐานราก

ขณะที่นายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า การปรับสภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าวทั้งการตัดต้นไม้และการปรับหน้าดินเพื่อก่อสร้างบ้านพัก ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ต้นไม้หรือหน้าดินที่หายไปเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อดอยสุเทพทั้งดอย เพราะธรรมชาติจะต้องปรับสมดุลทั้งระบบ เช่น กล้าไม้ที่ควรจะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ไม่ได้เติบโตอย่างควรจะเป็น เป็นต้น ทั้งนี้หากจะต้องทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ดังกล่าว สิ่งที่จำเป็นต้องทำเป็นลำดับแรกคือต้องฟื้นฟูสภาพหน้าดินก่อนแล้วทำการปลูกต้นไม้โดยอาจจะต้องหาแหล่งดินจากป่าธรรมชาติมาปลูกต้นไม้แต่ละต้นแล้วค่อยๆ ทำการฟื้นฟูไป ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะกลับมามีสภาพเหมือนเดิมก่อนโครงการนี้และไม่น่าจะทันในช่วงชีวิตของคนรุ่นปัจจุบัน ทั้งนี้ส่วนตัวรู้สึกเสียดายที่สภาพพื้นที่เดิมถูกเปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องใช้เวลายาวนานมากเพื่อฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอยสุเทพเป็นป่าที่มีความพิเศษกว่าที่อื่นๆ เพราะมีป่าครบทุกประเภทที่มีในประเทศไทยและมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่พบที่ดอยสุเทพเพียงแห่งเดียวเท่านั้น การที่พื้นที่ถูกทำลายย่อมจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อป่าทั้งหมดในพื้นที่และสิ่งมีชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้านนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า จากท่าทีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าจะไม่มีผู้เข้าไปใช้หรืออยู่อาศัยในบ้านพักดังกล่าว ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีสำหรับการร่วมกันแก้ไขปัญหากรณีนี้ ซึ่งในส่วนของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพยังคงยืนยันจุดยืนขอคืนพื้นที่ป่าบริเวณดังกล่าวและทำการฟื้นฟูให้กลับมามีสภาพดังเดิม ในการพูดคุยเจรากับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้(6 พ.ค.61) ที่จะมีตัวแทนเครือข่าย 52 องค์กรเข้าร่วม

ร่วมแสดงความคิดเห็น