เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จัดงาน “เทศกาลฉันรักดอยสุเทพ” ผู้คนมาร่วมงานอย่างคึกคัก

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จัดงาน “เทศกาลฉันรักดอยสุเทพ” คนร่วมคึกคัก แสดงความยินดีหลังผลเจรจาราบรื่น
ช่วงเย็นวันนี้(6 พ.ค.61) ที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (สี่แยกกลางเวียง ถนนคนเดิน) ในตัวเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ชมรมนักดนตรีเชียงใหม่,ชมรมศิลปินล้านนา,กลุ่มเมืองเมือง,มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกันจัดงาน “เทศกาลฉันรักดอยสุเทพ” ในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย นิทรรศการ “ดอยสุเทพที่ฉันรัก” บอกรักดอยสุเทพผ่านภาพและเรื่องราวของแต่ละยุคสมัย ทั้งเรื่องความเชื่อความศรัทธาและความหลากหลายทางธรรมชาติ พร้อมการแสดงดนตรีกลุ่มนักร้องและศิลปินล้านนา
ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก พร้อมแสดงความยินดีภายหลังจากที่ผลการเจรจาหารือกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหากรณีโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเบื้องต้นมีข้อตกลงและคำมั่นสัญญาร่วมกันว่าจะไม่มีการเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว พร้อมเตรียมให้ธนารักษ์ดำเนินการรังวัดพื้นที่ตามแนวเขตป่าดังเดิมที่ครอบคลุมบ้านพัก 45 หลัง และอาคารที่พัก 9 หลัง ขึ้นไปทางดอยสุเทพ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมและเตรียมส่งมอบให้อุทยานหรือป่าไม้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพร่วมกับภาคประชาชนต่อไป ส่วนการบริหารจัดการสิ่งปลูกสร้างจะมีการตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาพิจารณาต่อไป
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ กลุ่มสืบสานล้านนา ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า การกิจกรรม “เทศกาลฉันรักดอยสุเทพ”นี้ กำหนดไว้อยู่ก่อนแล้ว เพื่อแสดงให้ผู้คนเข้าใจว่าดอยสุเทพมีความสำคัญอย่างไร และที่ผ่านมามีการต่อสู่เพื่อปกป้องรักษาดอยสุเทพอย่างไรบ้าง ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และรับทราบผ่านการแสดงภาพและดนตรี ส่วนข้อตกลงที่ได้จากการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง
โดยในส่วนของเครือข่ายยืนยันข้อเรียกร้องให้มีการรื้อถอนบ้านพัก ขณะที่ภาครัฐยังมีข้อติดขัดข้อกฎหมาย จึงตกลงกันว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งกรอบระยะเวลาดำเนินการจะมีการหารือกันอีกครั้ง แต่ทางเครือข่ายต้องการให้เร็วที่สุด รวมทั้งคณะกรรมการต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และต้องมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจและจัดการทั้งเรื่องสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งการฟื้นฟูพื้นที่ป่า ซึ่งหลังจากการเจรจาครั้งนี้แล้ว ทางเครือข่ายยังไม่ได้หยุดเคลื่อนไหวเรียกร้อง และยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดให้การดำเนินการเป็นไปตามข้อตกลง
ขณะเดียวกันนายชัชวาลย์ เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายมีแนวคิดที่จะร่างแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูดอยสุเทพอย่างยั่งยืนภาคประชาชน เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ดอยสุเทพให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการดำเนินการของรัฐที่จะดำเนินการ พร้อมกันนี้เตรียมที่จะจัดพิธีฮ้องขวัญ(ร้องขวัญ)ดอยสุเทพ ตามแบบพิธีกรรมล้านนาโบราณ ซึ่งกำลังปรึกษาผู้รู้และเคยประกอบพิธีกรรมฮ้องขวัญป่าดอยมาแล้ว เพื่อจัดพิธีกรรมดังกล่าว โดยที่ในการจัดพิธีฮ้องขวัญดอยสุเทพ จะถือโอกาสประกาศร่างแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูดอยสุเทพอย่างยั่งยืนภาคประชาชนด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น