เตาเผาอินทขิล แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เมืองแกนพัฒนา

แหล่งเตาเผาอินทขิล ถือเป็นแหล่งโบราณคดี ที่มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งทางด้านวิชาการโบราณคดี และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาณาจักรล้านนา เพราะเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามในอดีตแหล่งใหม่ ที่มีความสมบูรณ์ทั้งเตาเผา และตัวอย่างเศษถ้วยชามที่มีมากถึง 4 แห่ง ซึ่งจากการขุดค้นแหล่งเตาเผาในภาคเหนือตอนบน ยังไม่พบว่ามีแหล่งเตาเผาแหล่งใดที่มีความสมบูรณ์เช่นนี้มาก่อน
เตาเผาอินทขิล ตั้งอยู่ ม.11 บ้านสันป่าตอง ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเมืองแกนเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานหลาย 100 ปี เป็นชุมชนโบราณก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่สมัยพญามังรายครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 1801- พ.ศ. 1854) ผู้คนในล้านนาสมัยนั้นสร้างสรรค์วัฒนธรรม อารยธรรม วัดวาอาราม กำแพงคูเมืองโบราณ สิ่งก่อสร้างต่างๆ คิดค้นเทคโนโลยี ผลิตศิลป กรรม วรรณกรรม และหัตถกรรมต่างๆ ทิ้งไว้เป็นหลักฐานทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ อันเป็นมรดกของผืนดินนี้มากมาย
สำหรับแหล่งแตาเผาอินทขิล เป็นแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชาม ซึ่งเป็นแหล่งใหม่ที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานนี้ ตามเอกสารการขุดค้นทางโบราณคดีของเตาเผาอินทขิล ของนายสายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี สนง.โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถาน แห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ กล่าวถึงการพบเตาเผาเป็นครั้งแรกว่า ในปี 2536 นายภาสกร โทณวนิก อาจารย์ประจำ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ และ รศ.สรัสวดี อ๋องสกุล อาจารย์จากมช. ได้สำรวจพบร่องรอยดินเผาไฟรูปวงกลมในบริเวณบ้านของ นายดวงดี ใจทะนง ชาวบ้านสันป่าตอง และได้ทำการขุดสำรวจทางโบราณคดี เพื่อศึกษาร่องรอยปล่องระบายความร้อน และหลังคาเตาเผาบางส่วนกระทั่งในปี 2539 ได้มีการตรวจสอบและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม จึงทำให้ทราบว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ เป็นแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชามสมัยโบราณ ซึ่งปรากฏร่องรอยหลักฐานเป็นปากปล่องเตาบนผิวดิน 2 แห่ง เตาเผาที่ค้นพบก่อด้วยอิฐ เป็นปล่องกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 ซม. นอกจากนั้นบริเวณทั่วไปยังพบเศษภาชนะดินเผา เนื้อแกร่งเคลือบสีเขียวอ่อน และเคลือบสีน้ำตาลแกมเขียวเข้ม เนื้อดินสีเทาและเศษภาชนะดินเผาเนื้ออ่อนไม่เคลือบผิว ต่อมาชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง ได้แจ้งให้ไปตรวจสอบโบราณวัตถุที่ “เนินขมุ” ในป่าห้วยช้างตาย พบเศษเครื่องถ้วยชามจำนวนมาก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแหล่งเตาเผาถ้วยชามอีกแห่งหนึ่ง และเมื่อคณะทำการสำรวจต่อไปบริเวณหลังวัดมืดกา พบว่ามีเตาเผาอยู่ที่ถนนตามลาดชายเนินเขา และพบปล่องเตาเผาก่อด้วยดินเหนียวเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในที่ดินเอกชน
จากการสำรวจของนักโบราณคดีทำให้ทราบว่าลักษณะของเตาเป็นเตาเผาเครื่องถ้วยชาม ก่อโครงสร้างด้วยดินเหนียวแบบระบายความร้อนผ่าเฉียงขึ้น รูปร่างคล้ายไห จึงถูกเรียกว่า “เตาไห” โดยมีช่องใส่ไฟอยู่บริเวณด้านหน้าของเตา สำหรับเป็นช่องลำเลียงภาชนะดินเผาเข้าบรรจุ ตอนกลางของเตาใช้เป็นพื้น ที่วางภาชนะ ส่วนตอนหลังใช้เป็นปล่องระบายความร้อน ส่วนหลักฐานผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยชามที่ถูกค้นพบนั้น เป็นเครื่องถ้วยชามเนื้อแกร่งเคลือบสีเขียวอ่อน เรียกชื่อว่า เซลาดอน หรือ ศิลาดล และชนิดเคลือบสีน้ำตาล ใช้ดินสีขาวคุณภาพเยี่ยมเทียบได้กับเครื่องถ้วยสังคโลกของศรีสัชนาลัย ที่สำคัญคือพบชิ้นส่วนภาชนะดินดิบ ปั้นจากดินสีขาว ซึ่งยังไม่เคยพบ ณ แหล่งเตาโบราณที่ใดมาก่อนในประเทศไทย อันเป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีที่ใช้ให้ทราบถึงกระ บวนการ และขั้นตอนการผลิตเครื่องถ้วยชามของล้านนาได้เป็นอย่างดี
จากการตรวจสอบรูปลักษณะของเตาเผาอินทขิล รวมถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยชาม สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในยุคล้านนา คือประมาณกว่า 600 ปีแหล่งเตาเผาอินทขิลถือเป็นแหล่งโบราณคดี ที่มีความสำคัญอย่างมากทั้งทางด้านวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของอาณาจักรล้านนา เพราะเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามในอดีตแหล่งใหม่ที่มีความสมบูรณ์ทั้งเตาเผาและตัวอย่างเศษถ้วยชามที่มีมากถึง 4 แห่ง ซึ่งจากการขุดค้นแหล่งเตาเผาในภาคเหนือตอนบน ยังไม่พบว่ามีแหล่งเตาเผาแหล่งใดที่มีความสมบูรณ์เช่นนี้มาก่อน
พิพิธภัณฑ์แหล่งเตาเผาอินทขิล ตั้งอยู่ที่หมู่ 11 บ้านสันป่าตอง ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.00-16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 5385 7360 ต่อ 17

ขอบคุณข้อมูล นายสมพงษ์ เพิ่มดี พนักงานดูแหล่งเตาอินทขิลเมืองแกน เทศบาลตำบลเมืองแกน

ร่วมแสดงความคิดเห็น