ผสานธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในสล่าช่างปั้นน้ำต้น “สล่าแดง”

แสงแดดสีทองสาดส่องนำความอบอุ่น ในฤดูหนาวยังภายใต้ถุนบ้านไม้ล้านนา บริเวณพื้นที่รังสรรค์ผลงานหัตถกรรม เครื่องไม้เครื่องมือถูกวางเรียงรายรอบตัวมือกำลังบรรจงนวดปั้นดินลงบนแป้นไม้หมุน ค่อยๆขึ้นรูปจากฐาน ตัวจนสู่คอ ไม้ขูดปรับแต่งให้ได้รูปทรง แล้วทิ้งไว้ในร่มอีก 3 วันถึงจะนำไปลงเตาเผาได้ ภาชนะใส่น้ำที่เรียกขานว่า “น้ำต้น” ยามอากาศร้อนๆเมื่อได้ดื่มน้ำต้นที่เราจะสัมผัสความชุ่มเย็นของน้ำ และกลิ่นไอหอมๆของดิน งานบรรจงรังสรรค์น้ำต้นนั้นก็คือ “สล่าแดง”นายสมทรัพย์ ศรีสุวรรณ หรือ สล่าแดง เป็นคนเกิด และโต ที่หมู่บ้านน้ำต้น อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ในสมัยก่อนน้ำต้นภาชนะ จะใช้สำหรับเจ้านายฝ่ายเหนือ พระสงฆ์ ชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงชาวบ้านที่ค่อนข้างมีฐานะ ส่วนการปั้นน้ำต้นของ บ้านน้ำต้น ในอดีตสันนิษฐานว่า มีการปั้นมาพร้อมกับการสร้างหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านแม่วาง ในอดีตเรียกว่า “บ้านเดื่องก”
มีหลักฐานปรากฏการสร้างหมู่บ้านในสมุดข่อยว่า ปี๋เต่ายี จ.ศ.1024 (พ.ศ.2385) เดือนสี่เหนือ แรมสิบสองค่ำ วันห้า เจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าอุปราชฝ่ายหน้าหอค่ำ เจ้าหอเมืองแก้วป๋ง อาชณา ให้แสนคันธาท้าวนรินทร์ มาตั้งบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านเดื่องก มีคนอยู่อาศัยอยู่ 57 หลังคาเรือน ประชากรเป็นเงี้ยวจะปุ๊ ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 หมู่บ้าน คือ “บ้านมะกะยอน” หมู่ที่ 4 “บ้านน้ำต้น” หมู่ที่ 6 และ “บ้านริมวาง” หมู่ที่ 7 หมู่บ้านที่ยังคงดำรงหัตถกรรมพื้นบ้าน การปั้นน้ำต้นมาจวบจนปัจจุบันก็คือ “บ้านน้ำต้น” หมู่ที่ 6 ต.บ้านกาด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ภาพการปั้นน้ำที่เคยเห็นจนชินตา ภาพ ต้นพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย นั่งปั้นน้ำต้น นั่งขัดใต้ถุนบ้าน มาตั้งแต่เด็ก เมื่อเวลาใดเป็นเวลาพักก็มักจะไปปั้นดินเล่นบ้าง ได้ลองตำดินด้วยครกกระเดื่อง อาศัยครูพักลักจำ เรียนรู้ ซึมซับทุกขั้นตอนไปด้วยปริยาย แต่ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และเทคโนโลยีก็ทำให้เราหลงลืมกันไป จนกระทั่งเมื่ออายุ 35 ปี จากพนักงานบริษัทเกิดจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต เมื่อค้นพบว่าสังคมเมืองไม่ใช่เส้นทางชีวิต ในแบบที่ตนเองใฝ่ฝันหา จึงตัดสินใจกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิด และค้นพบว่าศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอันทรงคุณค่าของหมู่บ้านกำลังที่จะสูญหายไป ขณะในปีเดียวกันพ่อครูใจคำ ตาปัญโญ ได้ร่วมกับชุมชนอำเภอแม่วาง จัดงานสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ “โครงการอุ๊ยสอนหลาน”
สล่าแดงจึงถือโอกาสนี้ฟื้นฟูการปั้นน้ำต้นให้หลับคืนมา แต่ตอนนั้นแทบไม่เหลือสล่าปั้นน้ำต้นแล้ว ทว่าว่าโชคดีที่ยังมี ลุงหลู่ ลุงแก้ว และอ้ายชาน ที่ยังคงปั้นน้ำต้นอยู่ ครั้งนั้นมี “น้ำต้น” จาก “บ้านน้ำต้น” ได้มีโอกาสไปร่วมในงานต่างๆ ถือเป็นก้าวเล็กๆแต่เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ “น้ำต้น” กลับมามีชีวิตอีกครั้งเป็นที่รู้จักของผู้คนมากยิ่งขึ้นรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ของน้ำต้น นั้นล้วนเกิดขึ้นจากแรงดลใจในธรรมชาติทั้งสิ้น อาทิ ทรงฟักทอง กลีบมะเฟือง พริกหวาน มะยม ลักษณะของคอน้ำต้นมี คอป้าน คอบาน คอสอบตรง คอสอบอูม การทำลวดลายลงบนน้ำต้นจากไม้เหลาในแบบต่างๆ ลายหยดน้ำ ลายฟันหนู ลายสร้อยอกหมาก และลายเมล็ดข้าวเปลือก เหล่านี้เป็นลายโบราณ และได้ประยุกต์การลงลักปิดทองเขียนลายที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับน้ำต้นมากยิ่งขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับน้ำต้นอย่างจริงจัง ยิ่งค้นหาก็ยิ่งหลงรักและพบปรัชญาในการใช้ชีวิตมากมายที่ไม่มีในตำราใดๆ หลังจากนั้นเริ่มต้นเก็บสะสมน้ำต้นโบราณรูปทรงต่างๆ ทั้งจากอาณาจักรล้านนาในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดในภาคเหนือ รัฐฉาน เชียงตุง สิบสองปันนา และหลวงพระบาง โดยสล่าแดงตั้งใจจะทำเป็น “พิพิธภัณฑ์น้ำต้น” เพื่อให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าชมศึกษาเรียนรู้ นอกจากนั้นยังเปิดบ้านให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้มาสัมผัสการปั้นน้ำต้นอีกด้วยที่จะช่วยสืบสาน สนับสนุนงานหัตถกรรมนี้ต่อไป
เวลาของความสุขการค้นพบเส้นทางชีวิตของตัวเอง อีกทั้งยังการได้ร่วมอนุรักษ์หัตถกรรมพื้นบ้านน้ำต้นเอาไว้ นั้นเป็นลมหายใจไม่จางหายจากงานหัตถศิลป์

“บ้านน้ำต้น” สล่าแดง สมทรัพย์ ศรีสุวรรณ
45 หมู่ 6 บ้านน้ำต้น ต.บ้านกาด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โทร.053-489226,089-7007273

ร่วมแสดงความคิดเห็น