เครียดภัยร้ายสู่การฆ่าตัวตาย

แพทย์หญิงพอใจ มหาเทพ นายแพทย์ชำนาญการ จิตแพทย์โรงพยาบาลสารภี กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความแปรปรวน สังคมที่ต้องแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด พบว่าอาการเครียดเรื้อรัง เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า และนำมาสู่การฆ่าตัวตาย โดยความเครียดเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1. เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น มลภาวะทางเสียง มลภาวะทางอากาศ รายรับไม่พอกับรายจ่าย การมีสัมพันธภาพกับคนอื่นที่ไม่ราบรื่น มักมีข้อขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นเสมอ การที่รู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยกว่าคนอื่น และ 2. เกิดจากนิสัยส่วนตัว เช่น ผู้ที่ชอบการแข่งขัน ชอบความท้าทาย เอาจริงเอาจังกับทุกอย่าง เข้มงวด ผู้ที่พยายามทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ผู้ที่ใจร้อนและผู้ที่มีอารมณ์รุนแรงผู้ที่อยู่ในภาวะตึงเครียด ร่างกายจะเกิดความเตรียมพร้อมที่จะ “สู้” หรือ “หนี” โดยที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น การหาย ใจดีเร็วขึ้น แต่เป็นการหายใจตื้นๆ ม่านตาขยายเพื่อให้ได้รับแสงมากขึ้น มีการขับครีนาลีนและฮอร์โมนอื่น ๆ เข้าสู่กระแสเลือด เส้นเลือดบริเวณอวัยวะย่อยอาหารหดตัว เหงื่อออกเพราะมีการเผาผลาญอาหารมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อหดเกร็งเพื่อเตรียมการเคลื่อนไหว เตรียมสู้หรือหนี อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย ได้แก่ อาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ อาการท้องผูกท้องเสียบ่อยๆ นอนไม่หลับ หอบหืดเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ และส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ อารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย กลัวอย่างไร้เหตุผล นำไปสู่ความวิตกกังวล ซึมเศร้าหรือโรคประสาทบางอย่างได้วิธีการลดความเครียด สามารถทำได้โดยการใช้ยา เช่น ยาหม่อง ยาดม ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการหลังเกิดภาวะตึงเครียด ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ได้แก่ การสำรวจและเปลี่ยนแปลงนิสัย เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น การทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรกที่ชอบ การฝึกผ่อนคลายโดยตรง เช่น การฝึกหายใจให้ถูกวิธี การฝึกสมาธิ ตลอดจนหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการ เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทที่ส่งเสริมทำให้เกิดความเครียด แพทย์หญิงพอใจ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถสำรวจระดับ ความเครียดเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง พร้อมรับคำแนะนำในการ ลดความเครียดที่สามารถเลือกปฏิบัติเองได้ อีกทั้งยังสามารถบันทึกอารมณ์ความเครียด เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังปฏิบัติตามคำแนะนำ ผ่านแอพพลิเคชั่น “เครียด อยู่ได้”
จัดทำโดยบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิหมอชาวบ้าน และการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการจัดการความรู้สุขภาพ ผ่านสื่อและเทคโนโลยีออนไลน์มูลนิธิหมอชาวบ้าน เพื่อเป็นการจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นเบื้องตนด้วยตัวเอง หากต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมสามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งใกล้บ้านท่าน หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ งานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิตและยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053-211048 ต่อ 113.

ร่วมแสดงความคิดเห็น