ชาวสวนแห่โค่นลิ้นจี่ปลูกลำไย ปีนี้ให้ผล 6.5 แสนตัน หวั่นราคาร่วง!!

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งข้อมูลว่า ลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน เชียงราย ลำปาง และตาก ปี 2561 มีเนื้อที่ปลูก 862,220 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.49% เนื่องจากปลูกใหม่แทนลิ้นจี่ ให้ผล 839,985 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33 จากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2558 ในภาคเหนือ ซึ่งปลูกเพิ่มแทนต้นลำไยที่อายุมากให้ผลผลิตต่ำ ผลผลิตรวม 659,173 ตัน (ลำไยในฤดู 386,342 ตัน ลำไยนอกฤดู 272,831 ตัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.46 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำฝนเพียงพอ และเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้นทั้งนี้ ผลผลิตต่อไร่ 785 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.08  ต้นลำไยออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะถึงแม้ว่าในพื้นที่ ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยาจะได้รับผลกระทบจากวาตภัยหลายรอบในช่วง มี.ค.-เม.ย. ทำให้ผลผลิตบางส่วนร่วงเสียหาย แต่ในภาพรวมผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้น และจะออกสู่ตลาดมากสุดช่วง ส.ค.นี้สำหรับลิ้นจี่ พื้นที่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และ น่าน ปีนี้ปลูก 93,453 ไร่ ลดลง 9.07 % เนื้อที่ให้ผล 92,812 ไร่ ลดลงร้อยละ 9.12 เพราะเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกลำไย และไม้ผลอื่น เช่น เงาะ ส้ม มะม่วง กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า เป็นต้น ประกอบกับ ลิ้นจี่ให้ผลผลิตน้อยติดต่อกันหลายปี เกษตรกรจึงโค่นต้นลิ้นจี่ และปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลอื่น ผลผลิตต่อไร่ 449 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.40 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ต้นลิ้นจี่ออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พบว่า ลิ้นจี่ได้ผลกระทบจากพายุลูกเห็บใน อ.ฝาง และเมืองเชียงใหม่ ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ทำให้ผลอ่อนร่วง เสียหายกว่า 500 ไร่ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วง เม.ย.- ก.ค. ออกมากสุดปลายเดือน พ.ค.61 นี้ทั้งนี้ ภาครัฐได้จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ปี 2561 โดยมีหลักคือจัดการผลผลิตให้สมดุลกับความต้องการของตลาด เชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสม เน้นให้จังหวัดบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลัก เช่น การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน จัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตผลไม้ คุณภาพตามความเหมาะสมของพื้นที่ ส่งเสริมซื้อขายแบบออนไลน์ การแปรูป และผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น