ย้อนวันวานส่งลูกหลาน ไปโรงเรียนในเชียงใหม่

สถานศึกษา โรงเรียนต่างๆในจ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเปิดเทอมกันแล้ว แม้กาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป เชียงใหม่ยังเป็นเมืองเดิมๆ ที่อาจเพิ่มเติมความทันสมัย ความเจริญก้าวหน้าในหลายๆมิติ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา
อาจกล่าวได้ว่าช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น เชียงใหม่พลิกผันจนยากจะคาดเดาอนาคต เฉพาะสถานศึกษา มีการเปิดการเรียน การสอนแบบอินเตอร์ ศึกษาเล่าเรียนกัน 3 ภาษา ทั้งไทย-อังกฤษ-จีน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ด้วยค่าเทอมแต่ละภาคการศึกษา ที่ผู้ปกครองต้องปาดเหงื่อในอดีตนั้น เชียงใหม่คงไม่แตกต่างจากหัวเมืองอื่นๆในภูมิภาคของไทย ที่รัฐบาลพยายามวางแผนพัฒนาด้านการศึกษา มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัย โรงเรียนต่างๆ ขึ้นมา
ยกตัวอย่างเช่น การจัดตั้งโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของเชียงใหม่ ในพ.ศ.2432 ชื่อ ร.ร.ยุพราชวิทยาลัย ตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ ให้จัดเป็นโรงเรียนตัวอย่างและฝึกอบรมกุลบุตรกุลธิดาและเป็นโรงเรียนหลวงที่ตั้งขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างแก่โรงเรียนอื่นๆ ในเชียงใหม่
และในปี พศ.2507 ที่มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น
แม้ระยะเวลาจะผ่านพ้นไปนานสักเท่าใด บรรดาลูกหลานเติบใหญ่ สำเร็จการศึกษา มีการงานทำ มีครอบครัว เป็นผู้ใหญ่ แต่ในสายตาพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ยังมองลูกๆหลานๆ เหมือนเด็กเมื่อวันวานในใจเสมอ ห่วงหาอาทร ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ตราบจนชีพวาย ผู้เขียนขอนำย้อนเวลา ไปสู่วันวานกับภาพในอดีตที่น่าจดจำ กับการรำลึกถึงสมัยเมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง คอยรับ คอยส่งลูกๆหลานๆไปโรงเรียน และแง่มุมการใช้ชีวิตของนักเรียนในอดีต

รวมถึงสถานที่หลายๆแห่ง ที่เปลี่ยนแปลงไปกับกาลเวลา จากฝีมือการบันทึกภาพของ คุณลุงบุญเสริม สาตราภัย อดีตนักหนังสือพิมพ์ ช่างภาพมือฉมังของเชียงใหม่ ท่านหนึ่ง ,มร. โดอิ โกโระ( Doi Kuro ) ,มร.นิค เดอวูล์ฟ( Nick Dewolf) ,มร.ฟีล บาร์เดียร์ (Phil Bradeer )และคุณเคนเนท ซูมิด ( Kenneth Schmidt) ส่วนหนึ่งจะบันทึกไว้ในราวๆปี 2515   กราบขอบพระคุณและขออนุญาตนำภาพมาเสนอ เพราะบางท่านอาจจะไปสู่สวรรค์ และหลายๆ ท่านนั้น ผู้เขียนก็จนปัญญาที่จะสืบค้นหาที่อยู่ตามไปขอบคุณครับ ขอเชิญทัศนาได้ตามอำเภอใจ

ร่วมแสดงความคิดเห็น