ครูมละบริ หรือชนเผ่าผีตองเหลือง เสนอโครงการ”การส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ในการสื่อสารของเด็กชาวมละบริฯ”

ครูมละบริ หรือชนเผ่าผีตองเหลือง คนแรกของประเทศไทยครู ศศช.มละบริภูฟ้า เสนอโครงการ”การส่งเสริมการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารของเด็กชาวมละบริฯ” ในเวทีประชุมวิชาการ กพด.ประจำปีการศึกษา 2560
ครูอรัญวา ชาวพนาไพร(ชาวมละบริ : ตองเหลือง)ครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา”แม่ฟ้าหลวง”มละบริภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน นำเสนอโครงการ การส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ในการสื่อสารของเด็กนักเรียน ชาวมละบริ ในเวทีการประชุมวิชาการ : การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2560 ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค.61 ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ม.กรุงเทพมหานคร
ประเด็นสำคัญที่นำเสนอบนเวที/ความสำคัญ
ชนเผ่ามละบริหรือที่คนส่วนใหญ่เรียกขานกันว่า “ตองเหลือง” เป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีวัฒนธรรมประเพณี ที่เป็นอัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็น วิถีการดำรงชีวิต สิ่งดีงามข้อห้ามและความเชื่อ งานหัตถกรรม ตลอดจนภาษาและวรรณกรรมโดยเฉพาะภาษานั้น ชนเผ่ามละบริ มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง ในการสื่อสารของชนเผ่ามละบริ
แต่จากสภาพปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ชนเผ่ามละบริ มีการติดต่อสื่อสาร กับสังคมภายนอกมากขึ้น จำเป็นต้องใช้ภาษาพื้นเมือง และภาษาไทยในการสื่อสาร กับสังคมภายนอก ทำให้ชนเผ่ามละบริในปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ มักจะหลงลืมภาษาดั้งเดิมของชนเผ่าของตนเอง
เนื่องจากพูดภาษาไทย และภาษาพื้นเมืองแทนภาษามละบริ แต่ขาดความเข้าใจในความหมาย และการเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ส่งผลให้การสื่อสารของชนเผ่ามละบริ ในปัจจุบันนั้นมีคำพูดหรือคำศัพท์ที่ผิดแปลกไปจาก ภาษาดั้งเดิมของชนเผ่ามละบริ นอกจากนั้นเด็กส่วนใหญ่ยังขาดทักษะ การสื่อสารที่ถูกต้องซึ่งเกิดจาก การที่เด็กไม่ทราบความหมายของคำศัพท์ ภาษามละบริที่แปลเป็นภาษาไทย ทำให้เด็กสื่อสารประโยคในภาษาไทยไม่ถูกต้อง
นายปัณณพงศ์ ท้าวอาจ ผอ.สำนังาน กศน.จังหวัดน่าน กล่าวว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าว ครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” มละบริภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน จึงได้จัดกิจกรรม ภาษามละบริวันละคำให้กับเด็กในวัยเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ภาษาในการสื่อสาร ของเด็กในวัยเรียน ซึ่งกิจกรรมนี้ยังสอดคล้องกับกิจกรรม ด้านการศึกษาและด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมภาษาชนเผ่า เพื่อสืบทอดภาษาดั้งเดิมของชนเผ่ามละบริและส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร คือนักเรียนทั้ง 24 คน มีความรู้ในการใช้ภาษาไทย และภาษามละบริในการสื่อ สารในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
สำหรับประวัติครูอรัญวา ชาวพนาไพร(ครูติ๊ก) ครูอาสาสมัครประจำศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ” แม่ฟ้าหลวง” มละริภูฟ้า อายุ 31 ปี เริ่มปฏิบัติงาน 1 ตุลาคม 2560 ครู กพด.ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา”แม่ฟ้าหลวง” มละบริภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
การศึกษา ปริญญาตรี สาขาส่งเสริมการเกษตร และยังเป็นครูมละบริ หรือชนเผ่าผีตองเหลือง) คนแรกของประเทศไทยอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น