ประตูผี เมืองลำปาง

ชัยภูมิในการสร้างเมืองของคนล้านนาโบราณ มักจะมีความเชื่อเรื่องพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยการสร้างเมืองในสมัยโบราณนั้นมีความเชื่อว่าเมืองนั้นเปรียบเสมือนร่างกาย เดชเมือง ศรีเมือง มงคลเมือง อุตสาหะเมือง ฯลฯ โดยเฉพาะทิศที่เป็นอุบาศ์กเมืองนั้นคนโบราณถือว่าเป็นทิศที่ไม่เป็นมงคลส่วนใหญ่จะใช้บริเวณนี้เป็นที่ฝังหรือเผาศพคนตายเมื่อมีคนตายเกิดขึ้นก็จะมีการนำศพออกจากเมืองทางประตูด้านนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เรียกว่า “ประตูผี” ความเชื่อดังกล่าวได้แพร่ขยายไปทุกหัวเมืองในล้านนา เช่นที่เชียงใหม่ก็จะมีประตูผีซึ่งอยู่ท้ายเมือง เรียกชื่อว่า “ประตูสวนปรุง” ขณะที่จังหวัดแพร่ก็มี “ประตูมาร” ซึ่งถือเป็นประตูผีส่วนที่จังหวัดลำปางก็มี “ประตูม่าห์” หรือ “ประตูม้า” ความเชื่อเรื่อง “ประตูผี” ที่ว่านี้มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครบอกได้ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงสมัยแรกสร้างเมือง โดยเฉพาะประตูผีของเมืองลำปางที่มีการออกเสียงว่า “ประตูม้า” หรือ “ประตูม่าห์” ยังเป็นข้อถกเถียงของนักวิชาการท้องถิ่น จนกระทั่งทางราชการได้นำป้ายไปปักไว้และเรียกชื่อประตูนี้เสียใหม่ว่า “ประตูม้า” โดยได้แจ้งกับประชาชนว่าชาวเหนือจะออกเสียงคำว่า “ม้า” เป็น “ม่า” ดังนั้น”ประตูม้า” ที่ทางราชการเขียนป้ายไว้นั้นถูกต้องแล้ว

ขณะที่นักวิชาการโบราณคดีท้องถิ่นหลายท่านที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองลำปางมาอย่างถ่อแท้และมีแนวคิดตรงข้ามกับทางราชการกล่าวว่า “ตำนานประตูม่านั้น คงได้มาจากการที่ในอดีตกองทัพพม่ายกทัพมาตีนครลำปางทางประตูด้านนี้ คนล้านนาจะเรียกคนพม่าว่า ม่าน ดังนั้นชื่อของประตูนี้คงถุกเรียกชื่อหลังเหตุการณ์สำคัญนั้นว่า ประตูม่าน แต่นานๆ เข้าคำว่า ม่าน นั้นคงจะเรียกเพี้ยนมาเป็นประตูม่าและเรียกเพี้ยนมาเป็น ประตูม้า ในปัจจุบัน
ในบทความเรื่องประตูม่าห์ของศุภการ นิมานนรเทพ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้ให้ความกระจ่างและอ้างถึงเหตุผล 2 – 3 ประการซึ่งสอดคล้องหลายประการกับที่มาของชื่อ “ประตูม่าห์” โดยประการกล่าวว่า ชื่อ “ประตูม่า” ไม่ได้มีที่มาจากคำว่า “ม่าน” เพราะปกติกองทัพพม่าที่จะยกทัพเข้ามาตีเมืองลำปางนั้น เป็นกองทัพที่เข้ามายึดเชียงใหม่ ลำพูน ก่อนจะข้ามเขาขุนตาล ผ่านลงมาตีเมืองลำปางทางด้านทิศตะวันตกของเมือง ซึ่งประตูเมืองทางทิศนี้ก็คือ “ประตูเวียง” และไม่มีเหตุผลอะไรที่พม่าจะยกทัพอ้อมเมืองไป 180 องศาเพื่อเข้าตีเมืองทาง

ประตูม่า ซึ่งอยู่ทิศทางตรงข้าม ประการที่สอง ตามหลักวิชา “นิรุกติศาสตร์” ตัวสะกด น. ของคำว่า “ม่าน” จะกร่อนไปเป็น “ม่า” ได้นั้นก็แต่เฉพาะในกรณีที่ชาวเมืองพูดไม่ชัดเท่านั้น ซึ่งออกจะสรุปง่ายและตื้นจนกลายเป็นดูถูกดูหมิ่นกันไป ประการสุดท้าย เมื่อเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ไล่คำอักษร ม สระอา เรื่อยไปจนพบคำหนึ่ง คือคำว่า มาห,มาห์,ม่าห์ ซึ่งแปลว่า ผี,ยักษ์,ผู้ไม่ใช่มนุษย์และดิรัจฉาน อยู่ในหน้าที่ 633 ก็คงพอจะเข้าใจแล้วว่าชื่อของประตูเมืองลำปางด้านทิศตะวันออกนี้ก็คือ “ประตูม่าห์”

อย่างไรก็ตามเป็นที่สังเกตว่าถัดจากบริเวณประตูนี้ มีสุสานของชาวเมืองที่มีมาตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันบริเวณนี้คือ สุสานไตรลักษณ์ ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของพระเกจิชื่อดังหลวงพ่อเกษม เขมโก ปัจจุบันประตูม้าเมืองลำปางได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2475 ประกาศให้เป็นหลักฐานของเมืองซึ่งพระนางจามเทวี โปรดให้สร้างขึ้นสำหรับเจ้าอนันตยศ พระราชบุตร ราวพุทธศตวรรษที่ 13
สำหรับการสร้างแนวกำแพงประตูเมืองลำปางนั้น สันนิษฐานว่าคงจะมีการสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งในช่วงเวลานั้นถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูและสร้างความปึกแผ่นของล้านนา ตรงกับสมัยของเจ้าดวงทิพย์ เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 3 (พ.ศ.2351) และโปรดให้สร้างแนวกำแพงก่ออิฐยาว 1,900 เมตร มีกำแพง 3 ด้านเหมือนเชียงแสน และได้สร้างประตูเมืองต่าง ๆ คือ ประตูหัวเวียง ประตูศรีเกิด ประตูศรีชุม ประตูสวนดอก ประตูเชียงราย สร้างคูเมืองเขลางค์ฝั่งตำบลหัวเวียงและป้อมปืนหออะม๊อก ซึ่งปัจจุบันยังเหลือหลักฐานให้เห็นอยู่

ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า แนวกำแพงเมืองลำปางและประตูเมือง ที่เหลืออยู่จึงอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน แต่ชื่ออาจมีการเรียกเพี้ยนไปตามกาลเวลา

ร่วมแสดงความคิดเห็น