ข่วงหลวงเวียงแก้วเชียงใหม่ แผนพัฒนาคุกเป็นสวนล่าช้า

หากสนใจศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ จะทราบดีว่าบริเวณทัณฑสถานหญิง หรือเรือนจำหญิงเชียงใหม่ เดิมซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่นั้น เคยเป็นคุ้มหลวง เวียงแก้ว หรือพระราชวังที่ประทับพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่ราชวงศ์มังราย มาจนถึงราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ ตำนานเมืองเล่าว่ารัชสมัย พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 ทรงโปรดที่จะประทับในวังหลวงแห่งนี้ ต่อมาในสมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 ราวๆ พศ.2445 สถานที่แห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นคุก หรือเรือนจำ
ปัจจุบันบริเวณคุ้มหลวงเวียงแก้ว กลายเป็นพื้นที่ตั้งสถานที่ราชการหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น บ้านพักตุลาการ ที่ว่าการอำเภอเมือง วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ สำนักงานโรงงานยาสูบเชียงใหม่ หอศิลป์ฯ มีความพยายามจะย้าย เรือนจำออกนอกเมืองหลายครั้ง พร้อมๆกับการนำเสนอให้พัฒนาเป็นสวนสาธารณะ หรือพัฒนาตามรูปแบบที่ชาวเชียงใหม่เรียกร้อง
โดยแผนงานขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพศ.2529 เนื่องจากเห็นว่าเคยเป็นวังหลวง และมีมติครม.พศ.2532 เห็นชอบกับแผนย้ายเรือนจำ กระบวนการเริ่มจากการหาสถานที่สร้างเรือนจำชายแห่งใหม่ ใน อ.แม่แตง ตั้งแต่ปีพศ.2552 จากนั้นเรือนจำหญิง ย้ายไปใช้พื้นที่บริวณเยื้องๆ บริเวณที่ตั้งศาลากลาง จ.เชียงใหม่ แทน
ในปีพศ.2555 และคณะสงฆ์เชียงใหม่ ตลอดจนชาวเชียงใหม่ หลายๆ ภาคส่วนร่วมใจกันจัดพิธี ล้างขึดอาถรรพณ์ คืน “ข่วงเวียงแก้ว” ปักกลดอยู่ปริวาสกรรมในคุกเก่า 9 วัน 9 คืน ระหว่างวันที่ 19-27 ม.ค.56 จนกระทั่งรัฐบาลสมัยนั้น เล็งเห็นพลังอันยิ่งใหญ่ของชาวเหนือ กับการฟื้นคืนคุ้มหลวง เวียงแก้ว มีการอนุมัติงบศึกษา งบขุดค้น งบพัฒนาโครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว ประมาณ 158 ล้านบาท ตลอดปี 2556 มีพิธีกรรม อีเว๊นท์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแผนงานเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรวบรวมความคิดเห็น จากประชาชนว่าจะพัฒนาพื้นที่ไปในทิศทาง รูปแบบใดสอดประสานกับแรงศรัทธา ของญาติโยมและคณะสงฆ์เชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ สู่โครงการ ลานหอคำ พระเจ้าเม็งรายมหาราช และพระพุทธรูปพระเจ้าค่าคิง อนุสรณ์สถานของลูกหลานเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นเพื่อฉลองเมืองเชียงใมหม่ครบ 721 ปี ขณะนี้แผนงานก่อสร้าง ใกล้แล้วเสร็จ อยู่ตรงข้ามพื้นที่ซึ่งจะพัฒนาเป็นข่วงหลวง เวียงแก้ว ทั้งๆที่เดิมแผนงานระหว่าง 2 ฝ่าย ทั้งสงฆ์และหน่วยงานรัฐฯจะผนึกเป็นหนึ่งเดียวกัน อาจจะด้วยเงินงบบริจาคทำงานง่าย แตกต่างจากงบประมาณแผ่นดิน ที่มีระเบียบ ขั้นตอนเยอะแยะ แค่การสืบค้นรอยอดีต งานด้านโบราณคดี และอื่นๆ ล่วงเลยมาเกือบจะครบ 2 ปี รวมถึงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ต้องดำเนินการถึง 3 ครั้ง จากราคากลาง 100,783,000.บาท ปรากฎว่า ล่าสุดเมื่อ 7 เม.ย.60 นั้น บ.ทำเลไทย ธรรม ชาติ จก.ชนะการประมูลด้วยราคา 95 ล้านบาทถ้วน ก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใด การดำเนินการก่อสร้าง ภายหลังขั้นตอน สืบค้น สำรวจ รวบรวมหลักฐานทางโบราณคดี น่าจะได้ข้อสรุป ยังไม่ได้ฤกษ์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ที่นับวันจะกลายสภาพเป็นป่ารกชัฎกลางเมือง กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยในยามค่ำคืน กับวัชชพืชที่ปกคลุมทั่วบริเวณ และเป็นที่ทิ้งขยะเมืองแห่งใหม่ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น