พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน วังแห่งความรักและความหวัง

เพชรบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ ในอดีตเคยเป็นเมืองหน้าด่านชั้นลูกหลวงที่สำคัญของไทยมาช้านาน เพชรบุรีมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองพริบพรี” แต่นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า ชื่อเพชรบุรีที่เรียกกันในปัจจุบันนั้น เป็นชื่อเดิมที่มีมาก่อนแล้ว เนื่องจากปรากฏชื่อ “เพชรบุรี” ในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย เชื่อว่าน่าจะเป็นชื่อตามแบบประเพณีอินเดียที่เข้ามาค้าขายและมีอิทธิพลในสมัยนั้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ชื่อเสียงของช่างเมืองเพชร เป็นที่รับรู้กันว่ามีฝีมืออยู่ในระดับแถวหน้าของเมืองไทย โดยเฉพาะภาพเขียนจิตรกรรมและงานปูนปั้น จึงเป็นที่มาของงานช่างฝีมือเมืองเพชร ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จประพาสประทับแรมที่เมืองเพชรบุรีอยู่เป็นประจำ เนื่องด้วยมีสภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นบนยอดเขาเพื่อใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนแปรพระราชฐานในปี พ.ศ.2402 พระราชทานนามว่า พระราชวังพระนครคีรีกระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็โปรดเสด็จมาประทับแรมที่เพชรบุรี จึงทรงพระกรุณาโปดเกล้าฯให้สร้างพระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน ขึ้นเพื่อใช้แปรพระราชฐาน แต่ไม่ทันแล้วเสร็จก็ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินประทับแรมที่เมืองเพชรบุรีหลายครั้ง ทว่าย้อนหลังไปเมื่อ 80 ปี ก่อนที่พระราชนิเวศน์แห่งนี้จะเริ่มก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวรด้วยโรครูมาติซั่ม ทรงมีพระราชประสงค์จะแสวงหาที่ประทับริมทะเล ซึ่งมีอากาศแห้งและอบอุ่น จึงทรงพระกรุณาโปดเกล้าฯให้กระทรวงเรือทำการสำรวจชายทะเลด้านตะวันตก พบว่าที่ตำบลบาวทะลุ จังหวัดเพชรบุรี มีหาดทรายสะอาด จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักชายทะเลขึ้นอย่างง่ายๆ แล้วเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรมครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2461 ปรากฏเป็นที่พอพระราชหฤทัย ด้วยว่ามีลมทะเลพัดโชยตลอดเวลา จึงพระราชทานชื่อหาดแห่งนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ แต่เนื่องจากว่าหาดเจ้าสำราญอยู่ใกล้กับหมู่บ้านชาวประมงจึงทำให้มีแมลงวันอยู่เป็นจำนวนมาก เวลาประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ มหาดเล็กรักษาพระองค์จึงต้องคอยถือไม้ตีแมลงวัน
จนถึงปี พ.ศ.2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รื้อย้ายจากค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ มาสร้างพระตำหนักเรือนพักร้อนอันสงบร่มรื่น ให้เป็นที่ประทับพักผ่อนอย่างแท้จริง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงออกแบบและควบคุมการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง ให้หมู่พระที่นั่งมีเพดานสูงเพื่อการระบายลม อาคารทุกหลังโปร่งสบายไม่อับทึบ โดยให้สถาปนิคชาวอิตาลี มิสเตอร์อิโกล มานเฟดดี้ สถาปนิคในราชสำนักซึ่งรับราชการในกรมโยธาธิการเป็นผู้ร่างแบบถวาย ภายในเวลาเพียง 1 ปี พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จึงแล้วเสร็จอย่างดงามมหัศจรรย์
ภายหลังที่สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเสร็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์แห่งนี้ 2 ครั้ง คือ ปี พ.ศ.2467 และปี พ.ศ.2468  พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นพระตำหนักอาคารไม้ใต้ถุนสูงสร้างด้วยไม้สักทองแบบไทยผสมยุโรป คล้ายกับพระที่นั่งวิมานเมฆที่กรุงเทพ และพระราชวังสนามจันทร์ที่นครปฐม เป็นหมู่พระที่นั่งไม้สักทองริมทะเล รองรับด้วยเสาคอนกรีต 1,080 ต้น หลังคาทรงปั้นหยา มีทางเดินเชื่อมต่อกันตลอดด้วยระเบียง ประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 องค์ คือ หมู่พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ ถือเป็นส่วนหน้าสำหรับใช้เป็นที่ออกขุนนางและประกอบพระราชพิธีต่างๆ นอกจากนั้นพระที่นั่งแห่งนี้ยังใช้เป็นโรงละคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานยิ่งนัก พระที่นั่งสโมสรเสาวกามาตย์ เคยจัดแสดงละครมาแล้ว 2 ครั้ง คือ เรื่องพระร่วงและวิวาห์พระสมุทร ซึ่งเป็นละครร้องสลับรำ พระราชนิพนธ์ของพระองค์และร่วมแสดงเป็น ท้าวมิดัส แห่งเมืองอัลฟาด้วย
ลักษณะพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างเป็นโถงโล่ง ชั้นบนด้านทิศใต้มีระเบียบสำหรับเป็นที่ประทับเวลาเสด็จออก ด้านหลังระเบียงที่ประทับเป็นห้อง ปัจจุบันแสดงเรื่องราวและสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมา รวมถึงการบูรณะพระราชนิเวศน์แห่งนี้ไว้อย่างน่าชมถัดเข้ามาด้านในเป็นพระที่นั่งพิศาลสาคร โดยมีทางเดินเชื่อมต่อ พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารด้านหน้าประกบด้วยห้องสรง ห้องบรรทม และห้องทรงพระอักษร ซึ่งมีการจัดวางสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องเรือนตามที่เคยทรงใช้ไว้ให้ชม อาคารส่วนกลางเป็นห้องโล่งกว้างมีลักษณะคล้ายกับศาลา เป็นที่ๆพระองค์ทรงโปรดประทับในเวลากลางวัน

นอกจากนั้นยังเป็นห้องเสวยพระกระยาหารด้านหน้าของพระที่นั่งพิศาลสาคร มีทางเดินทอดยาวไปจรดชายหาด พร้อมทั้งมีพลับพลาสำหรับเปลี่ยนเครื่องทรงเมื่อเสด็จทรงน้ำทะเลด้วย เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานในปี พ.ศ.2467 ได้ประทับ ณ พระที่นั่งพิศาลสาครองค์แรก แต่เนื่องจากอาคารอยู่ลึกเข้าไปด้านใน ทำให้ไม่ได้รับลมทะเล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ทางด้านหน้าให้รับลมมากขึ้น เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับในปี พ.ศ.2468 จึงได้พระราชทานพระที่นั่งองค์เดิมให้เป็นที่ประทับของเจ้าจอมสุวัทนาสุดท้ายคือพระที่นั่งสมุทรพิมาน อยู่ด้านในเป็นที่ประทับในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในการเสด็จครั้งแรกและเป็นกลุ่มอาคารสำหรับฝ่ายใน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ประกอบด้วยหมู่อาคารที่พักของข้าราชบริพารฝ่ายใน หอเสวยและพลับพลาริมทะเล พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ หอเสวยฝ่ายในเป็นประจำทุกวันพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐาน ประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2468 จึงเสด็จกลับ จากนั้นอีกไม่นาน วันที่ 25 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคต นับตั้งแต่การจากไปของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชนิเวศน์แห่งนี้แด่ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาฯ แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เสียก่อน คณะปฏิวัติได้เข้ายึดใช้สถานที่ต่างๆ รวมถึงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน กระทรวงกลาโหมได้ใช้เป็นสถานที่ฝึกยุวชนทหาร กระทั่งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา มีหน่วยงานหลายหน่วยงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาใช้ที่นี่ และปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมา

เวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ พระราชนิเวศน์แห่งนี้ก็ทรุดโทรมลงทุกขณะ จนไม่เหลือเค้าเดิมอันงดงามอีกต่อไป วันที่ 2 กันยายน 2524 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นโบราณสถาน ทำการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมาจนถึง วันที่ 31 มีนาคม 2537 กว่า 13 ปีที่งานบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวันดำเนินไปท่ามกลางเงาอดีต ลวดลายฉลุรอบอาคารได้รับการลอกแบบสร้างขึ้นใหม่ ลูกกรงนับร้อยนับพันรอบตัวอาคารถูกแกะขึ้น ขณะที่ภาพเขียนสีบนเพดานกำลังได้รับการลอกใหม่จากเค้าเดิมที่เลือนลาง วันนี้พระราชนิเวศน์ที่ทรุดโทรมได้รับการชุบชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้ง
ปัจจุบันพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ได้รับการฟื้นฟูบูรณะให้งดงามเหมือนเดิม บนเนื้อที่กว่า 31 ไร่ ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง 3 องค์ใหญ่ หันหน้าเรียงแถวขนานรับลมทะเล โดยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบขงมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ได้จัดแสดงเครื่องเรือนทั้งที่เป็นส่วนพระองค์และของร่วมสมัยในห้องสำคัญต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้กับผู้เข้าชมภายใต้แสงสุดท้ายแห่งวันเวลากลางฤดูฝน เราละทิ้งภาพเงาอดีตแห่งเรื่องราวของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สถานที่ๆได้ชื่อว่าเป็น พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง ไว้เบื้องหลังพร้อมๆกับการจากลาโดยมิอาจทิ้งปริศนาคาใจที่ว่า ฤาคนรุ่นเราในวันนี้จะมิอาจสร้างสรรค์งานสถาปัตย์ให้งดงามเทียบเท่าบรรพบุรุษอีกแล้ว

หมายเหตุ ผู้สนใจเข้าชมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประสงค์จะเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถทำหนังสือติดต่อได้ที่ ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน 1281 ค่ายพระรามหก ถ.เพชรเกษม อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 76120 โทรศัพท์ 0 – 3250 – 8039 เปิดทำการวันธรรมดา 08.30 – 16.00 น. เสาร์ – อาทิตย์ 08.30 – 17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท

ร่วมแสดงความคิดเห็น