หนังสือพิมพ์คนเมือง หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกในเชียงใหม่

ย้อนหลังกลับไปเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว กระแสของการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ภาคเหนือกลายเป็นข่าวครึกโครมในสมัยนั้น และเชื่อว่าพี่น้องชาวเชียงใหม่ทุกคนยังคงจดจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี เบื้องหลังของการเรียกร้องนั้น หนังสือพิมพ์คนเมืองได้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นเรียกร้องให้ประชาชนชาวเชียงใหม่เห็นความสำคัญของการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งจะว่าไปแล้วหนังสือพิมพ์คนเมืองในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเชียงใหม่ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง
หนังสือพิมพ์คนเมือง เกิดขึ้นจากกลุ่มนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้านำโดยนายสงัด บรรจงศิลป์ ซึ่งได้ชักชวนเพื่อนฝูงเข้ามาร่วมทุนเพื่อออกหนังสือพิมพ์ของชาวเชียงใหม่ใช้ชื่อว่า “หนังสือพิมพ์คนเมือง” โดยครั้งแรกก่อตั้งเป็นบริษัทชื่อลานนาการพิมพ์ ประกอบด้วยคณะกรรมการคือ สุจิตต์ เกื้อวงศ์ นายแพทย์อุทัย สนธินันทน์ นิกร ทองเจิม อ.ไกรศรี นิมมานเหมินท์และสงัด บรรจงศิลป์
หนังสือพิมพ์คนเมืองออกวางแผงเป็นครั้งแรกในเชียงใหม่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2496 ซึ่งได้รับการต้อนรับจากกลุ่มผู้อ่านเป็นจำนวนมาก การเสนอข่าวสารของหนังสือพิมพ์คนเมืองในสมัยนั้นส่วนใหญ่จะเน้นการเสนอข่าวประเภทการเมือง สังคม เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ สมัยนั้นหนังสือพิมพ์คนเมืองมีจำนวนพนักงานที่ทำงานทั้งสิ้นประมาณ 40 คน โดยพิมพ์หนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายแบบรายสะดวก ต่อมาก็ได้พัฒนามาเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของเชียงใหม่ นอกจากนี้หนังสือพิมพ์คนเมืองยังได้จัดพิมพ์วารสารฉบับพิเศษออกในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีเรียกว่า “ฉบับดำหัว” และได้พัฒนามาเป็นวารสารรายเดือนฉบับแรกของเชียงใหม่อีกเช่นกัน โดยวางแผงเมื่อเดือนกรกฏาคม 2497 ซึ่งนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 64 ปีมาแล้ว กระแสการอ่านหนังสือพิมพ์ของคนเชียงใหม่ต่อหนังสือพิมพ์คนเมืองมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากที่พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเพียงไม่กี่ร้อยฉบับ จนเวลาต่อมาหนังสือพิมพ์คนเมืองก็ได้เพิ่มยอดพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 15,000 ฉบับ ซึ่งถือได้ว่าสูงที่สุดในบรรดาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยุคนั้น
ด้วยสำนึกที่เป็นสื่อมวลชนของท้องถิ่น นอกจากการเป็นตัวแทนในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนชาวเชียงใหม่และภาคเหนือแล้ว สิ่งหนึ่งที่หนังสือพิมพ์คนเมืองได้ทุ่มเทกำลังและถือเป็นความภูมิใจของคนหนังสือพิมพ์สมัยนั้นก็คือ การเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการผลักดันให้เกิดการรณรงค์เรียกร้องให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในภาคเหนือ ซึ่งความคิดในการเรียกร้องการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในภาคเหนือนั้นมาจาก มิชชั่นนารีชาวอเมริกันคณะหนึ่งได้เสนอเงินทุนจำนวน 50 ล้านเหรียญให้กับรัฐบาลไทยและจังหวัดเชียงใหม่ที่จะให้มีการก่อสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นในภาคเหนือ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการศึกษาให้กระจายไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เพื่อที่คนในต่างจังหวัดจะได้มีมหาวิทยาลัยแทนการหลั่งไหลเข้าไปศึกษาในเมืองหลวง ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความพร้อมและได้รับการสนับสนุนจากคนในท้องถิ่น
แต่ด้วยปัญหาของระบบการปกครองในสมัยนั้น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเห็นควรที่จะระงับเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน กระทั่งต่อได้เกิดกระแสการรณรงค์เรียกร้องให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น ในส่วนของหนังสือพิมพ์คนเมืองก็ได้มีการเขียนบทความและข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ มีการทำป้ายวงกลมสีแดงเขียนข้อความว่า “เราต้องการมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือ” โดยป้ายดังกล่าวนำไปติดไว้ตามบ้านเรือน เสาไฟฟ้า กระจกรถ เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ภาคเหนือ ปรากฏว่าการรณรงค์ครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างล้นหลาม จนแผ่นป้ายวงกลมมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและเด็กนักเรียน
นอกจากแผ่นป้ายวงกลมสีแดงแล้ว หนังสือพิมพ์คนเมืองยังได้จัดพิมพ์แสตมป์สีแดงสำหรับติดคู่ไปกับแสตมป์ของทางราชการบนซองจดหมายทุกฉบับที่เขียนส่งไปยังที่ต่าง ๆ ทำให้การรณรงค์เรียกร้องดังกล่าวแผ่ขยายออกไปทั่วประเทศอีกด้วย กระทั่งในปี พ.ศ.2507 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นนับเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ประชาชนได้ร่วมกันต่อสู้โดยมีหนังสือพิมพ์คนเมืองทำหน้าที่ของสื่อมวลชนท้องถิ่นในการใช้อำนาจของสถาบันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น