นามสกุลพระราชทานของเจ้าในลำพูน

เป็นที่ทราบกันดีว่าเชื้อสายของเจ้านายฝ่ายเหนือ หรือ สกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง มาจากตระกูลเจ้าเจ็ดตน ซึ่งเป็นราชวงศ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือที่ครองนครเชียงใหม่มาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เจ้านายสยามประเทศมีพระบรมราชจักรีวงศ์ปกครองประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ.2325 แต่ราชวงศ์ “ทิพจักราธิวงศ์” ของผู้ครองนครฝ่ายเหนือซึ่งเป็นนครเอกราชนั้น มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2275
ระหว่างปี พ.ศ.2272 – 2275 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าบรมโกฏิ กษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ล้านนาไทยเกิดการจราจลรบราฆ่าฟันกันทั่วไป หาความสงบสุขมิได้ นครลำปางมีแต่พ่อเมืองควบคุมกันเองปล่อยให้สถานการณ์เสื่อมทรามลงเรื่อย ๆ
ทางนครลำพูนก็ฉวยโอกาสให้ท้าวมหายศ ซึ่งเป็นพม่าครองเมืองเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลไปตีเมืองลำปางได้ พระอธิการวัดชมพู ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่นับถือของชาวลำปาง จึงคบคิดกับพ่อเมืองกอบกู้บ้านกลับคืนมา กลุ่มผู้ที่คิดกู้ชาติจึงพร้อมใจกันเลือก “หนานทิพจักรวเนจร” ราษฎร
สามัญผู้มีสติปัญญาและกล้าหาญชาญชัย ทั้งยังเคยเป็น หมอโพน ช้างป่ามาก่อน จนชาวบ้านตั้งสมญานามว่า “หนานทิพช้าง”
หนานทิพช้างนำไพร่พลออกรบกับท้าวมหายศ ซึ่งตั้งกองทัพอยู่ที่วัดลำปางหลวง ได้ต่อสู้กันจนที่สุดท้าวมหายศแตกพ่ายหนีไป เมื่อสิ้นสงครามแล้ว ชาวเมืองลำปางจึงสถาปนาหนานทิพช้างขึ้นเป็น “เจ้าพระยาสุละวะฤาชัยสงคราม” เป็นผู้ครองเมืองลำปางในปี พ.ศ.2275
เจ้าพระยาสุละวะฤาชัยสงคราม จึงตั้งราชวงศ์ของพระองค์ขึ้นมาเรียกว่าราชวงศ์ “ทิพจักราธิวงศ์” เจ้าพระยาสุละวะฤาชัยสงคราม ครองเมืองลำปางได้ 27 ปีก็ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2302 เจ้าชายแก้ว บุตรชายของท่านก็ได้ขึ้นครองเมืองสืบต่อมาจนกระทั่งถึง พ.ศ.2307
อิทธิพลของพม่าก็กลับแผ่ขยายเข้ามาครอบครองภาคเหนือทั้งหมด คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน
ปี พ.ศ.2325 หลังจากที่พระเจ้ากาวิละ ราชบุตรของเจ้าฟ้าชายแก้วซึ่งเป็นหลานของพระยาสุลวะฤาชัยสงคราม ได้ร่วมกับทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินล้านนาแล้ว จึงได้รับการสถาปนาแต่งตั้งเป็น พระยาวชิรปราการ และให้ย้ายจาก
เมืองลำปางไปเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตั้งเจ้าคำสม น้องชายคนที่ 2 ครองนครลำปาง พร้อมกับตั้งเจ้าธรรมลังกา น้องชายคนที่ 3 เป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ ตั้งเจ้าดวงทิพย์ น้องชายคนที่ 4 เป็นอุปราชเมืองลำปาง ตั้งเจ้าหมูหล้า น้องชายคนที่ 5 เป็นเจ้าราชวงศ์ลำปางและตั้ง
เจ้าคำฝั้น น้องชายคนที่ 6 เป็นเจ้าบุรีรัตน์เชียงใหม่ ต่อมาได้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1 นับเป็นต้นสายสกุล ณ ลำพูน
เมืองลำพูน มีเจ้าหลวงปกครองมาทั้งสิ้น 10 พระองค์ จนถึงสมัยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้าย ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “ณ ลำพูน” ให้เมื่อวันที่
17 ธันวาคม 2456 ณ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระบรมมหาราชวัง
เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เป็นราชบุตรของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าหลวงลำพูน องค์ที่ 9 กับเจ้าแม่รถแก้ว มีพี่น้องรวม 5 คน ได้แก่ เจ้าหญิงมุกดา เจ้าชายตุ้ย เจ้าจักรคำ เจ้าหญิงแก้วมาเมืองและเจ้าหญิงหล้า เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ สมรสกับชายาและหม่อม รวม 6 คนคือ เจ้าแม่
ขานแก้ว เจ้าแม่แขกแก้ว เจ้าหญิงส่วนบุญ เจ้ายอดเรือน หม่อมคำแยงและหม่อมแว่นแก้ว มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 8 คน
นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลให้กับ เชื้อสายเจ้าเมืองลำพูน ได้แก่ นามสกุล “ตุงคนาคร” แด่เจ้าราชภาติกวงศ์ (เจ้าน้อยดวงทิพย์) เป็นราชบุตรเจ้าน้อยอินถา เจ้าแม่เปาคำ ซึ่งเป็นต้นสกุลตุงคนาคร มีบุตรธิดากับเจ้าแม่เกี๋ยงคำ 4 คนคือ
เจ้าน้อยดาด เจ้าน้อยเทพ เจ้าหนานชื่นและเจ้าแม่ประภาวดี
ยังมีนามสกุลของเจ้านายเมืองลำพูน ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเดียวกัน คือ นามสกุล “ธนัญชยานนท์” แด่เจ้าราชวงศ์ (หนานไชยเทพ หรือ บุญเป็ง) ราชบุตรของเจ้าขัติ เจ้าเมืองตากกับแม่เจ้าบัวเที่ยง
เจ้าขัติ (พระยาวิชิตชลธี) เป็นราชบุตรของพระเจ้าบุญมา เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2 ในช่วงเวลานั้นหัวเมืองล้านนามีเมืองในปกครองทางทิศใต้ได้แก่ เมืองเถิน เมืองตาก เดิมเป็นหัวเมืองใหญ่อยู่บริเวณชายแดนพม่า เจ้านายฝ่ายเหนือล้านนาเกรงว่าพวกพม่าจะเข้ากลับ เข้ามายึดครองจึงได้ส่ง เจ้าขัติ ไปปกครอง ซึ่งต่อมาหนานไชยเทพ หรือ บุญเป็ง ราชบุตรได้เป็นเจ้าราชวงศ์เมืองลำพูน สมรสกับเจ้าแม่คำแสน มีบุตรธิดารวม 5 คน คือ เจ้าน้อยธนัญไชย (เจ้าน้อยตุ้ย) เจ้าน้อยจักรแก้ว เจ้าน้อยไชยวงศ์ (เจ้าอุตรการโกศล) เจ้าแม่ไฮคำและเจ้าแม่จอมนวล
ส่วนนามสกุล “ลังกาพินธุ์” สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 8 และนามสกุล “วงศ์ดาราวรรณ” สืบเชื้อสายมาจาก เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 ถือได้ว่าเป็นนามสกุลของเชื้อเจ้าในลำพูนอีกนาม
สกุลหนึ่ง
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น