พระราชวังมัณฑะเลย์ของกษัตริย์พม่าองค์สุดท้าย

มัณฑะเลย์ อดีตราชธานีแห่งสุดท้ายของพม่าก่อนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้มัณฑะเลย์จะเคยเป็นยุคทองของพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมแบบพม่า แต่ด้วยความเป็นเมืองธุรกิจการค้าในดินแดนตอนเหนือของพม่าปัจจุบัน โดยเฉพาะการเป็นตลาดใหญ่ของอัญมณีที่หลั่งไหลมาจากรัฐกะฉิ่นซึ่งอยู่ทางเหนือสุด มัณฑะเลย์จึงพลุกพล่านไปด้วยนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสจิตวิญญาณของพม่า เมื่อครั้งเคยรุ่งเรืองด้วยพระราชวังไม้สักทองและความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะมาปิดทองหรือทำบุญที่วัดยะไข่ หรือวัดมหามุณี อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามุณี หนึ่งในห้าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำประเทศพม่า

เมืองมัณฑะเลย์ เคยเป็นราชธานีของเขตพม่าตอนบน แต่กลับมาอายุเก่าแก่ไม่ถึง 150 ปี และยังเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่เมืองของพม่าที่ยังคงใช้ชื่อเดิมเรื่อยมาโดยไม่เปลี่ยนแปลง ชื่อมัณฑะเลย์ฟังดูเก่าแก่โบราณพอ ๆ กับแม่น้ำเอยาวดี หรือ อิระวดี ที่ทอดสายไหลเอื่อยผ่านตัวเมืองแห่งนี้ เสน่ห์ของเมืองมัณฑะเลย์อยู่ที่การเป็นราชธานีแห่งสุดท้ายของระบอบกษัตรย์พม่า โดยเฉพาะพระราชวังมัณฑะเลย์ของพระเจ้ามินดงและกษัตริย์สีป้อ พระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของพม่า ก่อนเสียเอกราชให้กับอังกฤษ สร้างขึ้นจากไม้สักทองทั้งหลังอยู่ในเขตกำแพงเมืองมีคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ภายในพระราชวังมีส่วนของอาคารทั้งแบบพม่า ยุโรปที่ทรงคุณค่าและสวยงามมาก
ก่อนจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ย่างกุ้ง กระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในเวลาต่อมา

ปัจจุบันมัณฑะเลย์เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากย่างกุ้ง และเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าธุรกิจและตลาดอัญมณีของพม่าตอนเหนือ แต่กระนั้นในวงล้อมของตึกรามที่ติดจานดาวเทียมบนหลังคา มัณฑะเลย์จึงมีงานสถาปัตยกรรมแบบเครื่องไม้ ระดับสุดยอดอย่างวิหารทองคำที่วัดชเวนันดอ อีกทั้งมัณฑะเลย์เคยเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาของโลกยุคหนึ่ง ซึ่งปรากฏร่องรอยการชำระพระไตรปิฏก ครั้งที่ 5 ที่วัดกุโสดอ ทำให้เราเห็นกับตาจากแผ่นหินอ่อนจารึกหลักธรรมในพุทธศาสนาทั้ง 729 แผ่น อันเป็นเหตุให้หนังสือกินเนสบุ๊คต้องจารึกว่า นี่คือหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็ว่าได้

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น