บันไดนาคในวัด ความลับแฝงที่ชาวพุทธต้องรู้

ในแถบอุษาคเนย์ว่ากันตั้งแต่ไทย ลาว เขมร ยันพม่ามีคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชา”งู”คำว่า “นาค” เป็นภาษาสันสกฤต ฟังแล้วขลังขึ้น ยิ่งเติมสีสันดินกับคำว่า”บาดาล” กลายเป็นดินแดน “นาคพิภพ” มหัศจรรย์พันลึกเข้าไปอีก ซึ่งการนับถือนาคมีอยู่ทั่วไปตามชุมชนบ้านเมืองทั่วบริเวณ2 ฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่ตอนใต้มณฑลยูนนานของจีนลงมา จนถึงปากแม่น้ำโขง มีทัศนคติความเชื่อ 3 แนวทางคือ ตำนานปรัมปราในแต่ละท้องถิ่น ความเชื่อเกี่ยวกับวิถีความเป็นอยู่ และลัทธิทางศาสนา ส่วนการสร้างบันไดสู่อุโบสถ สร้างราวบันไดเป็นรูปนาคขึ้นพระสถูป เจดีย์ ในลักษณะต่างๆคือสถาปัตยกรรม เชิงช่าง แต่ละสกุลในพื้นที่นั้นๆ
ในภาคเหนือจะเห็นความแปลกของงานปูนปั้นที่มีหัวเป็นนาค ปากคล้ายจระเข้ มีเขี้ยวยาวโค้งก็มี เรียกกันว่า มกรคายนาค (พญานาค) อ่านว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน เป็นสัตว์ที่ในจินตนาการ ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ  สำหรับวัดในภาคกลางจะเป็นราวบันไดนาค ส่วน”ตัวมอม” ที่ปรากฎตรงราวบันไดศาสนสถาน เช่นที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ วิหาร และหอมณเฑียรธรรม วัดบุพพาราม เป็นอีกงานเชิงช่าง ไม่ใช่มกร หรือเห-รา และบันไดพญานาค 306 ขั้น วัดพระธาตุดอยสุเทพ ในแง่ของประวัติศาสตร์ศิลปะมกรคายนาคในภาคเหนือ น่าจะอนุมานได้ว่า เป็นการแสดงออกถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลของงานศิลปะพุกามหรือพม่าที่ครอบงำล้านนากว่า2ร้อยปี ปัจจุบัน งานศิลปะ มีความวิจิตรบรรจง สะท้อนถึงพลังสร้างสรรค์ของงานช่างแต่ละยุคสมัย บางศาสนสถาน หัวเป็นมกรคายนาค หรือเป็นพญานาค แต่เกล็ดตัวเลื้อยเป็นลายมังกรบ้าง เป็นหางคชสีห์ก็มี ที่โดดเด่นในยุคสมัยนี้เห็นจะเป็นสถาปัตยกรรมที่วัดร่องขุ่น เชียงรายและบางวัด เรียบง่าย เป็นแบบหางวาฬ หรืองานปูนเปลือยโค้งมนง่ายๆ สื่อความหมายของการเป็นสะพานที่เชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ เช่นวัดดวงดี, วัดกู่เต้า เชียงใหม่
รวมถึงแนวคิดอีกมุมที่น่าสนใจคือสื่อสัญลักษณ์ถึงอวิชชาความไม่รู้เป็นสิ่งห่อหุ้มขันธ์สังขารทั้ง5 และการทำนาค 5 เศียรตรงบันไดขึ้นวัด ก็เป็นการย้ำเตือนให้ระลึกรู้ว่า ผู้ที่มาวัดเข้าโบสถ์มาเพื่อกำจัดอวิชชา ความโง่เขลา เบาปัญญา ของมนุษย์ที่มุ่งแสวงหาสุข จากการไหว้วอน ร้องขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด ในโบสถ์ให้ดลบันดาลสิ่งที่ประสงค์ ให้สมปรารถนา
ทั้งๆ ที่ นับแต่ก้าวสู่บันไดนาค พุทธศาสนิกชนต้องระลึกรู้ เตือนตน มีสติว่า มาเพื่ออะไร
แม้จะเป็นเพียงย่างก้าวของการไหว้วอนร้องขอแล้วมีความสุข มีความหวัง ก็ย่อมเป็นหนทางที่ดีกว่า ไม่มีสิ่งใดยึดเหนี่ยว ไม่มีศาสนา แน่นอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น