ลูกอาจารย์ถวัลย์ผุด”วิหารพระเจ้าหมื่นองค์” วัดดังกลางเมืองเชียงราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปัจจุบันที่วัดมุงเมือง ตั้งอยู่ติดกับตลาดสดเทศบาล 1 ทน.เชียงราย จ.เชียงราย พบว่าได้มีศิลปินเข้าไปประดับตกแต่งภายในอุโบสถของวัด เพื่อเตรียมเปลี่ยนโฉมอุโบสถหลังดังกล่าวเป็นศิลปะล้านนาประยุกต์
โดยผู้ที่เข้าไปดำเนินการคือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี อายุ 41 ปี บุตรชายของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย และผู้สร้างบ้านดำ ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย ที่มีชื่อเสียงโด่งดังนั่นเอง โดยการตกแต่งดังกล่าว มีการใช้ไม้สักเข้าไปแปะติดกับผนังและเสา ของอุโบสถเดิมอย่างลงตัว โดยใช้ศิลปะที่งดงามตามรูปแบบของ อ.ถวัลย์ จากนั้นจะมีการนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานตามจุดต่างๆ ในอุโบสถเป็นจำนวนมากต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการเริ่มจากภายในอุโบสถ บริเวณผนังด้านหนึ่งก่อน ส่วนจุดอื่นๆ จะขยายออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้ครอบคลุมอุโบสถทั้งภายในและภายนอกต่อไป
พระครู ดร.อุดม ธรรมนิเทศก์ เจ้าอาวาสวัดมุงเมือง กล่าวว่าเมื่อครั้น อ.ถวัลย์ ยังมีชีวิตอยู่ก็เคยไปมาหาสู่ที่วัดและกินอยู่ที่วัดเป็นประจำ กระทั่งเมื่อได้ล่วงลับไปแล้ว ทางบุตรชายก็เข้ามาสืบสานต่อโดย อ.ถวัลย์ก็ได้บอกบุตรชายให้ช่วยดูแลวัดนี้ให้ด้วย ต่อมาทางนายดอยธิเบศร์ จึงได้คิดวิธีทำการพัฒนาอุโบสถของวัดด้วยศิลปะ เพื่อให้เกิดความงดงามตามรูปแบบศิลปะล้านนาประยุกติ์ ทำให้ทางวัดมีการประชุมคณะกรรมการวัด และนายดอยธิเบศร์ แล้วก็เห็นพ้องกันให้ศิลปินเข้าไปพัฒนาอุโบสถได้ตามวัตถุประ สงค์
ปัจจุบันจึงเริ่มมีการนำไม้สักประกอบปูนซีเมนต์ มาประดับตกแต่ง พร้อมมีการตั้งชื่ออุโบสถใหม่ว่า “วิหารพระเจ้าหมื่นองค์ วัดมุงเมือง” ซึ่งเมื่อดูแล้วพบว่ามีความงดงามทั้งศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ของสีลวดลายไม้สัก กระนั้นก็ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน โดยแล้วแต่ศิลปินจะรังสรรค์ ถ้าเมื่อแล้วเสร็จจะงดงามอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันนายดอยธิเบศร์ ได้จัดแสดงข้อมูลภายในอุโบสถของวัดดังกล่าวว่า ภายในจะเป็น “ไตรภูมิล้านนา ศิลปะการจัดวางภายใน วิหารพระเจ้าหมื่นองค์ จ.เชียงราย” โดยมีการเขียนเป็นแผน ผังภายในอย่างลงตัวและงดงาม โดยเฉพาะแผนผังด้านหลังของพระประธานภายในอุโบสถ ที่มีทั้งตุงกระด้างอยู่ทั้ง 2 ข้าง ตรงกลางเป็นบุษบกใหญ่ บรรจุพระประธานคือพระเจ้าสองสี รวมทั้งมีบุษบกรอง ประสาทรูปภูมิอีกหลายอัน และต้นไม้ทิพย์ ฯลฯ
ด้านนายดอยธิเบศร์ เปิดเผยว่าวัดมีความสำคัญต่อคนไทยและมีเรื่องไตรภูมิ ซึ่งแสดงออกตามศิลปะต่างๆ ภายในวัดมากมาย สำหรับภาคเหนือมีศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นจึงได้รังสรรค์ผลงานที่วัดมุงเมือง เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ศิลปะล้านนาร่วมสมัย โดยนำเอาแนวความคิดและปรัชญาทางพระ พุทธศาสนา รวมถึงคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ มาตีความและออกแบบสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็ให้ศิลปะเป็นสื่อกลาง ระหว่างหลักธรรมกับชีวิตและถวายเป็นพุทธบูชาด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น