ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ให้แก่ผู้บริหารของกรมพินิจ และคุ้มครองเด็กและเยาวชน

เช้าวันนี้ 8 มิ.ย.61 กรมพินิจฯ จัดสัมมนา “ความสำคัญทางการศึกษาต่อเด็กและเยาวชน ในกระบวนการยุติธรรม
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ”ความสำคัญทางการศึกษาต่อเด็กและเยาวชน ในกระบวนการยุติธรรม’ ให้แก่ผู้บริหารของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นักวิชาการ ครูอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ตามโครงการปฏิรูปการศึกษา สำหรับเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ณ ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม (ชั้น 2) อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่
ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “การศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกควบคู่ไปกับหลักคุณธรรมจริยธรรม ทุกวันนี้ผู้บริหารและบุคลากรสถานพินิจฯ ศูนย์ฝึกและอบรมฯ ล้วนเป็นผู้ปิดทองหลังพระตัวจริง คือ หาใช่ทำเพียงโดยหน้าที่ หลายท่านมีจิตวิญญาณของความเสียสละ ทุ่มเท มีความมุ่งมั่น แม้จะมีการตั้งเป้าหมายหรือผลสัมฤทธิ์ไว้ค่อนข้างสูง มองในมุมกลับการที่ตั้งไว้สูง ก็เพื่อหวังให้ผลสัมฤทธิ์มีพัฒนาการที่สูงขึ้นตาม และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นตามลำดับในทุก 3-6-9-12 เดือน
การติดตามประเมินผล ถือเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการภาคบังคับ ที่ตัวเลขจะอธิบายให้เห็นถึงทิศทางการทำงานว่าการพัฒนาคุณภาพเด็กดีขึ้นหรือไม่ มากหรือน้อยเพียงใด และอะไรที่ควรมีการปรับปรุงแก้ ไข จำนวนครูทางสาขาสังคมจิตวิทยา กีฬา ศิลปวัฒนธรรม คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ ประการสำ คัญ คือ การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน การไม่ทำให้เด็กกระทำผิดซ้ำซาก ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เด็กที่พ้นจากสถานพินิจฯ ไปแล้วไม่กลับไปถูกครอบงำ หรือชี้นำ กระทั่งต้องกลับเข้ามาอีกไม่ว่าจะเป็นสถานพินิจฯ และราชทัณฑ์ ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องท้าทาย แต่มองว่าเป็นภาระหน้าที่รับผิดชอบของเราคนไทยทุกคน ที่จะต้องช่วยกันเสริมช่วยกันสร้างอนาคตของชาติ ที่เราทุกคนวางใจได้
“ความหวังทุกคนต้องมี ที่ถือเป็นแรงบันดาลใจ สิ้นความหวังคือความล้มเหลวตั้งแต่ต้น เยาวชนสถานพินิจฯ สะท้อนถึงปัญหาสังคมภายนอกที่เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องของกฎหมาย เรื่องของระเบียบวินัย เรื่องของต้นแบบ เช่น ปัญหายาเสพติด การทุจริตคดโกง การกล่าวคำเท็จ แบบอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือ บิดามารดา ครูอาจารย์ หัวหน้าองค์กร นำพามาซึ่งสังคมคุณธรรม ‘หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก’ คือ หัวต้องเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณค่า เป็นความหวังร่วมกันของทุกๆ คน” ม.ล.ปนัดดา กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น