บูมต่อเนื่องงานโคขุนฯ ผุดอาชีพใหม่-ดันมีโรงเชือด

ที่ลานกิจกรรมกาสะลอง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ ปลัด จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “โคขุนเชียงราย เนื้อโคคุณภาพ ท้องถิ่นล้านนา” ซึ่งจัดโดยสำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายโคเนื้อล้านนานำโดย นายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายฯ เข้าร่วมครบครัน ภายในงานมีการจำหน่ายเนื้อโค แข่งขันประกวดการทำอาหารจากเนื้อโคขุน การแสดงบนเวที ตลาดสินค้าประชารัฐ ฯลฯ ท่าม กลางความสนใจของผู้คน เพราะเนื่องจากการส่งเสริมด้านการเลี้ยง และจำหน่ายเนื้อโคขุนเป็นเรื่องใหม่สำหรับพื้นที่เชียงราย
นายสัมฤทธิ์ กล่าวว่าที่ผ่านมาประชาชน มีการปลูกพืชเกษตรกันเป็นจำนวนมาก ทำให้พืชบางชนิด    ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ขณะที่การเลี้ยงโคเนื้อนั้น เดิมมีความเข้าใจกันว่าสามารถเลี้ยงได้ดีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคกลาง แต่เมื่อพบว่าในปัจจุบัน ทางเครือข่ายโคเนื้อล้านนามีการเลี้ยงโคเนื้อได้อย่างมีมาตรฐาน ทำให้ทาง นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.เชียงราย และพาณิชย์จังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ฯลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปส่งเสริมอย่างต่อเนื่องต่อไป กระนั้นการพัฒนา การเลี้ยงก็ต้องขึ้นอยู่บนพื้นที่ ฐานการสร้างมาตรฐานที่ดี เพื่อให้ได้ตลาดที่มีคุณภาพ ซึ่งก็เชื่อว่าอาชีพนี้จะเป็นอนาคตที่ดีของเกษตรกร ชาวเชียงรายได้เป็นอย่างดีต่อไป
นางพิมล กล่าวว่าปัจจุบันอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ คือการเลี้ยงโคเนื้อเพราะพบว่าระหว่างปี 2550-2557 ปริมาณการเลี้ยงลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลที่ผ่านมามีการส่งเริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทนและมีการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อ ขาดแรงจูงใจทั้งการเลี้ยงและจำหน่าย นอกจากนี้บางส่วนถูกส่งเข้าโรงเชือด และส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศทำให้ปริมาณเนื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากสถานการณ์นี้ทำให้ จ.เชียงราย เล็งเห็นโอกาสที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดี มั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนนโยบายอาหารปลอดภัยสู่ครัวโลก จึงได้มีการส่งเสริมโดยส่วนหนึ่งคือการจัดงานนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ของเกษตรกรต่อไป
ด้านนายนเรศ กล่าวว่าปัจจุบันเครือข่ายมีสมาชิก 291 ราย มีโคเนื้อประมาณ 1,300 ตัว โดยเครือข่ายมีรับประกันราคาซื้อขายให้สมาชิกอย่างชัดเจน ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อ เพื่อพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงโคขุนได้โดยปัจจุบัน เน้นเลี้ยงพันธุ์บีฟมาสเตอร์ เป็นหลัก เพราะเหมาะสมกับประเทศไทยและได้คุณภาพมาก ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่าตลาด มีความต้องการเนื้อโคขุน อย่างมากกว่าเดือนละ 300 ตัว แต่ปรากฎว่าเรากลับไม่สามารถผลิต ให้ได้ทันดังนั้นการส่งเสริมการเลี้ยง จึงเป็นสิ่งที่ดี กระนั้นปัญหาในพื้นที่คือยังไม่มีโรงเชือดมาตรฐานตั้งอยู่ โดยต้องนำโคไปดำเนินการพื้นที่ จ.พะเยา ซึ่งเสียต้นทุนไปเที่ยวละกว่า 4,000-5,000 บาท ล่าสุดจึงได้หารือกับกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอเปิดโรงเชือดโคขุนมาตรฐาน ซึ่งใช้งบประมาณราว 15 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นผลในปี 2562-2563 ซึ่งก็จะสามารถยกระดับการพัฒนาการเลี้ยง และการจำหน่ายโคขุนในพื้นที่ จ.เชียงราย ได้เป็นอย่างดีต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น