ไทย-เมียนมา ประสานความร่วมมือปราบปรามกลุ่มผู้ผลิตและค้ายาเสพติด

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2561 นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรมศุลกากร ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักกองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาสัญชาติไทยที่หลบหนีหมายจับคดียาเสพติดในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และกรณีการตรวจยึดโซเดียมไซยาไนด์ ณ ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส.
นโยบายรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา โดยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยคณะผู้แทนไทย ได้เข้าหารือข้อราชการและกระชับความร่วมมือในการสกัดกั้น ปราบปรามยาเสพติด กับ พลโท จ่อ ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมียนมา ณ กรุงเนปิดอว์ ตามคำเชิญของรัฐบาลเมียนมา ดังนี้
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 หน่วยปราบปรามยาเสพติดของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (CCDAC) ประจำจังหวัดท่าขี้เหล็ก จับกุมนายเจริญ เกียรติพรพานิช ผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับศาลอาญาที่ 10/2560 ลงวันที่ 13 มกราคม 2560 ซึ่งสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ ดีเอสไอ จับกุมนายยุทธ จันแก้ว และพวกรวม 4 คน พร้อมของกลางไอซ์ 20 กิโลกรัม ยึดทรัพย์สินมูลค่า 10,000,000 บาท และขยายผลออกหมายจับข้อหาสมคบฯ รวม 3 คน คือ นายนรินทร์ จันทร์บำรุง นายนริศร วัชรีนันท์ และนายสาม ทองเงิน โดยสามารถติดตามจับกุมได้ทั้งสามราย ตรวจยึดอายัดทรัพย์สินมูลค่ารวม 35,000,000 บาท และได้สืบสวนขยายผลออกหมายจับ นายเจริญ หรือไว หรือก้อ เกียรติพรพานิช ซึ่งเป็นบุคคลในเครือข่ายทำหน้าที่เก็บรักษาและลักลอบ ส่งมอบยาเสพติดให้กับลูกค้า โดยสำนักงาน ป.ป.ส. สืบทราบว่า นายเจริญฯ ได้หลบหนีไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก จึงได้ประสานงานไปยังหน่วยปราบปรามยาเสพติดของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (CCDAC) จนสามารถติดตามจับกุมนายเจริญฯ ได้พร้อมของกลาง เงินสด (ธนบัตรรัฐบาลไทย) จำนวน 4.2 ล้านบาท เงินสด (ธนบัตรเมียนมา) จำนวน 8.445 ล้านจ๊าด ทองรูปพรรณ 25 บาท รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นอัลพาร์ด จำนวน 1 คัน รวมมูลค่า 8 ล้านบาท ณ จังหวัดท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และต่อมาเมื่อวันที่ 6-8 มิถุนายน 2561 เจ้าหน้าที่ ปปส. ในประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการตรวจค้นและยึดทรัพย์สินของนายเจริญฯ ได้แก่ รถยนต์ 3 คัน รถจักรยานยนต์ 8 คัน โฉนดที่ดิน 2 แปลง ทองคำ เงินสด บัญชีธนาคาร กระเป๋าแบรนด์เนม และเครื่องประดับ รวมมูลค่าประมาณ 12,000,000 บาท มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ยึดได้รวม 20,000,000 บาท
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 มีการจับกุมสารโซเดียมไซยาไนด์ (Sodium Cyanide) จำนวน 300 ถัง รวมน้ำหนักประมาณ 15 ตัน พร้อมกับรถบรรทุกในท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา โดยหน่วยปราบปรามยาเสพติดของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (CCDAC) ประจำจังหวัดท่าขี้เหล็ก โดยผู้นำเข้าอ้างว่านำไปใช้ในเหมืองทองคำ สืบเนื่องจาก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับการประสานจากศุลกากรด่านเชียงแสนว่ามีการขออนุญาตส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์จากประเทศไทยไปยังประเทศเมียนมา โดยจะลำเลียงผ่านแม่น้ำโขง แต่ด่านศุลกากรเชียงแสนไม่อนุญาตให้ส่งออก เนื่องจากตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โซเดียมไซยาไนด์ (Sodium Cyanide) เป็นวัตถุอันตราย ไม่สามารถลำเลียงทางแม่น้ำโขงได้ บริษัทผู้ส่งออกจึงได้นำสารดังกล่าวเก็บไว้ที่โกดังในพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 มีการนำสารโซเดียมไซยาไนด์ดังกล่าว ส่งออกไป อ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งด่านศุลกากรแม่สายได้ทำการตรวจผ่านสินค้าดังกล่าว เนื่องจากสารโซเดียมไซยาไนด์ดังกล่าว มีใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกของกรมโรงงานอุตสาหกรรมถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. และด่านศุลกากรแม่สายได้ประสานให้หน่วยปราบปรามยาเสพติดของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (CCDAC) ประจำจังหวัดท่าขี้เหล็ก ทำการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง และพบว่าไม่มีใบอนุญาตนำเข้าไปในประเทศเมียมมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงทำการตรวจยึดจับกุมดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าเป็นการลักลอบเพื่อนำไปผลิตยาเสพติด
สารโซเดียมไซยาไนด์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ควบคุมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และตามคำสั่งตามคำสั่ง คสช. ที่ 32/2559 จัดเป็นสารในบัญชี 2 ลำดับที่ 6 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่งคงให้เฝ้าระวังการนำเข้า-ส่งออกสารดังกล่าว จึงเป็นผลให้เกิดการจับกุมดังกล่าวได้ใน อ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา

นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “ไทยและเมียนมาให้ความสำคัญกับการควบคุมเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต โดยเห็นชอบที่จะร่วมกันสืบสวนปราบปรามสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้าไปยังแหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำให้เพิ่มมากขึ้น โดยให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ระหว่างกันได้โดยตรง เพื่อสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที และได้แลกเปลี่ยนส่งมอบข้อมูลหมายจับผู้กระทำผิดเพื่อดำเนินการติดตามผู้ต้องหาระหว่างกัน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความตั้งใจจริงในการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับประเทศเมียนมา โดยการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รวมถึงการสนับสนุนการดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกให้กับพื้นที่ตามแนวชายแดนเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น