พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า รายที่ 10

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า รายที่ 10 แล้ว พร้อมเตือนประชาชนหากถูกสุนัข แมว กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และถ้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วให้ไปฉีดวัคซีนต่อให้ครบตามนัดทุกครั้ง เน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันตนเองด้วยหลัก “คาถา 5 ย.”
วันที่ (13 มิ.ย.61) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่ากรมควบคุมโรคได้รับรายงานว่าผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า ใน จ.ระยอง ได้เสียชีวิตลงแล้วในช่วงเย็นของเมื่อวานนี้ ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–13 มิ.ย.61 มีจำนวน 10 ราย จาก 10 จังหวัด (สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร และระยอง) ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน แล้วไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงรายล่าสุดนี้ด้วย
จากข้อมูลของผู้เสียชีวิตหลายราย มักคิดว่าแผลเล็กน้อยไม่จำเป็นต้อง รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จนกระทั่งแสดงอาการ แต่ก็สายเกินแก้ไข เป็นเหตุทำให้เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็น หรือ DDC poll เมื่อเดือน มี.ค.61 ที่ผ่านมา เช่น เมื่อถูกสุนัข-แมวกัดหรือข่วน จะไม่ทำอะไรและไม่ไปพบแพทย์ ร้อยละ 51.3 และพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 75.4 ไม่รู้ว่าต้องพาลูกสุนัขหรือแมว อายุ 2-3 เดือน ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว โค กระบือ สุกร แต่ในประเทศไทยพบมากในสุนัข แมว และโค หากประชาชนถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้ว่าแผลจะเพียงเล็กน้อย ก็อย่าได้ชะล่าใจ รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที ใส่ยาฆ่าเชื้อ จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และที่สำคัญหากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ขอให้ไปฉีดวัคซีนต่อให้ครบตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
ขอให้ประชาชนป้องกัน และลดความเสี่ยงอย่าให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมว กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล โดยยึดหลัก “คาถา 5 ย” ได้แก่ 1.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 2.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน 3.อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 4.อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน 5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น