แพทย์แผนไทย แนะนำสมุนไพรใกล้ตัว หาง่าย ใช้สะดวก ป้องกันโรคไข้เลือดออก

แพทย์แผนไทย แนะนำสมุนไพรใกล้ตัว หาง่าย ใช้สะดวก ป้องกันโรคไข้เลือดออก พร้อมแนะวิธีการ ทำสเปรย์กันยุงใช้เองในครัวเรือนอย่างง่ายๆ ย้ำป้องกันก่อนป่วยดีที่สุด
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงนี้ฝนจะตกชุกทำให้เกิดน้ำขัง เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น มักเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี (dengue virus) ระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ในช่วงเวลา ประมาณ 3-15 วัน หลังรับเชื้อทางที่ดีสุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด ซึ่งการป้องกันมีด้วยกันหลายวิธี เช่น ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำต้องมีฝาปิดให้มิดชิด ใช้ทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำใส่ในภาชนะขังน้ำ ทำบริเวณรอบบ้านให้สะอาด ไม่มีมุมอับทึบ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และอีกหนึ่งวิธีป้องกันยุงกัด คือ การใช้สมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
จึงขอแนะนำสมุนไพรใกล้ตัว เป็นที่รู้จัก และมีปลูกกันในบริเวณรั้วบ้าน และในชุมชนที่มีสรรพคุณ ช่วยไล่ยุง สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ ได้แก่ ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ผิวมะกรูด ผิวส้ม โหระพาและสะระ แหน่ เนื่องจากสมุนไพรดังกล่าว มีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ไล่ยุง เช่น น้ำมันหอมระเหยจากการบูร ยูคาลิปตัส, ตะไคร้หอม, ใบมะกรูด วิธีการนำมาใช้แบบโบราณพื้นบ้าน เพียงแค่นำสมุนไพรที่กล่าวข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งมาทุบหรือขยี้ ๆ แล้วนำไปวางบริเวณมุมอับ ก็จะสามารถช่วยไล่ยุงได้
นอกจากนี้ สามารถทำเป็นสเปรย์ตะไคร้หอม เก็บไว้ใช้ในช่วงหน้าฝนได้ง่าย ๆ ดังนี้ 1. หั่นตะไคร้หอมเป็นชิ้นเล็ก ๆ ห่อด้วยผ้าขาวบาง 2. หั่นผิวมะกรูดเล็ก ๆ ประมาณ 50 กรัม ห่อด้วยผ้าขาวบางเหมือนตะไคร้หอม 3. นำห่อตะไคร้หอม และห่อผิวมะกรูดใส่ลงในโหลแก้ว 4. นำแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอ ฮอล์) 1 ลิตร เทใส่โหลแก้ว 5. ใส่การบูร 10 กรัม ปิดฝาให้แน่น หมักไว้ 7 วัน ระหว่างที่หมักต้องเขย่าโหลแก้วทุกวัน เมื่อครบกำหนด นำมาบรรจุขวดสเปรย์ และเขียนฉลากติดข้างขวดไว้ว่าสเปรย์สมุนไพรกันยุงเพื่อความปลอดภัย ใช้ฉีดไล่ยุงตามมุมอับต่าง ๆ ภายในบ้าน หรือหากท่านที่ไม่มีเวลาทำใช้เอง สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป
นอกจากใช้สมุนไพรไล่ยุง เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกแล้ว ก็ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มียุงชุกชุม หากต้องเข้าไปในป่า ควรทายากันยุงและสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดไม่ควรสวมเสื้อผ้าสีทึบ หากมีอาการไข้สูง โดยไม่มีอาการไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูกไหลร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจหาโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะหากพบในช่วงฤดูฝน หรือช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก

ร่วมแสดงความคิดเห็น