แม่ทัพภาคที่ 3 จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ (After Action Review: AAR) ปี 2561

พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ให้การต้อนรับ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ในโอกาสที่เดินทางมาเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ (After Action Review: AAR) ปี 2561 โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร , นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก , นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข ณ ท่าอากาศทหาร กองบิน 46 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2561
ต่อจากนั้น พลตรี ฉลองชัย ชัยยะคำ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ (After Action Review: AAR) ปี 2561 โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน การประชุมดังกล่าวเพื่อเป็นการรับทราบสรุปผลการปฏิบัติงานและปัญหาอุปสรรค์ของแต่ละหน่วยงานที่มีส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, น่าน, แพร่, พะเยา, ตาก, ซึ่งในปี 2561 พบว่าดัชนีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ในพื้นที่มีค่าลดลงจากปีก่อน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสนอแนวทางการปฏิบัติในแผนการดำเนินงานในปี 2562 มี ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทรวงคมนาคม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สํานักงบประมาณ และผู้แทนหน่วยงานใน 9 จ.ภาคเหนือ เข้าร่วม
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. ได้กล่าวขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานหลักที่ได้ดําเนินการอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา และได้บูรณาการหน่วยงานภายใต้กลไกของ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และการอํานวยการ สั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดตามระบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ให้ทุกหน่วยงานดําเนินการอย่างเข้มข้น ทั้งการลาดตระเวน ป้องปรามการตรวจหาไฟป่าและการเผา การระดมสรรพกําลัง อุปกรณ์เครื่องมือ จากกองทัพภาคที่ 3 ตํารวจ เครือข่าย อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการเข้าดับไฟก่อนเกิดการลุกลาม มีการให้รางวัลหมู่บ้านดีเด่น และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทําผิด และสร้างเครือข่ายในการป้องกันไฟป่า ทั้งนี้จุดความร้อนและปริมาณฝุ่นละอองใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยปี 2561 สถานการณ์ดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเราทำได้ดีในช่วงที่มีการห้ามเผา 60 วัน ดังนั้นจึงขอให้แต่ละจังหวัดไปพิจารณาช่วงเวลาการประกาศห้ามเผา ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และดูแลสถานการณ์ช่วงก่อนและหลังการใช้มาตรการห้ามเผาเพื่อควบคุมจุดความร้อนให้ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย
ด้าน นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ หมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม เป็นประจําทุกปี โดยในปี 2561 แต่ละจังหวัดได้ประกาศช่วงห้ามเผาอย่างเด็ดขาด โดย จ.ตากและลําปางเป็นพื้นที่แรกที่ประกาศห้ามเผา ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ -10 เมษายน และ จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่สุดท้ายที่ได้กําหนดช่วงเวลาห้ามเผา ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน ซึ่งข้อมูลผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม พบว่าปริมาณฝุ่นละอองเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด เท่ากับ 233 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลําปาง ในวันที่ 7 มีนาคม สําหรับจํานวน วันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน พบว่า จังหวัดตากมีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานสูงสุด จํานวน 19 วัน ขณะที่ จังหวัดพะเยาเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ในส่วนสถานการณ์จุดความร้อนสะสม 9 จังหวัดภาคเหนือ จากการเปรียบเทียบข้อมูลจุดความร้อนสะสมรายจังหวัดในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม พบจํานวนความร้อนในพื้นที่ 9 จังหวัด จํานวน 4,717 จุด ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 ที่พบจํานวนจุดความร้อน 5,418 จุด หรือลดลงประมาณร้อยละ 13 เมื่อพิจารณาจํานวนจุดความร้อนสะสมรายจังหวัด พบว่า จังหวัดตาก มีจุดความร้อนสะสมสูงที่สุด 1,377 จุด รองลงมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดความร้อนสะสม 915 จุด และจังหวัดเชียงใหม่ มีจุดความร้อนสะสม 650 จุด ตามลําดับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น