ผ้าซิ่นจก แม่แจ่มผ้าทอแห่งจิตวิญญาณ สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

“ผ้าซิ่นจก (ตีนจก) มีความละเอียดประณีตอ่อนช้อย มีความหมายในตัวเอง ความประณีตของลวดลายเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เยือกเย็นสุขุม กฎเกณฑ์ บางครั้งอาจซ่อนเร้นเรื่องราวและเนื้อหาที่สามารถเล่าขานถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน การตั้งถิ่นฐาน เชื้อชาติ สภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ประเพณี”
แม่แจ่ม เป็นอำเภอหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในหุบเขาซึ่งมีเทือกเขาถนนธงชัย และดอยอินทนนท์ล้อมรอบ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่สำคัญของภาคเหนือ นับเป็นหนึ่งในชุมชนไม่กี่แห่งของไทย ที่ยังคงรักษาและสืบทอดมรดกพื้นเมืองซิ่นตีนจก และ ผ้าทอหลายประ เภท อันเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าทั้งความงดงามและความหมาย วิถีชีวิตของคนแม่แจ่ม

จากประวัติคสตรีแม่แจ่มในอดีต สตรีจะถูกฝึกหัดให้รู้จักทอผ้าตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อพร้อมที่จะทอผ้าสำหรับนุ่งห่มของตนเองและครอบครัว ทุกวันนี้ชุมชนแม่แจ่ม โดยส่วนใหญ่ก็ยังนิยมทอและใช้ผ้าทอที่ทำขึ้นในท้องถิ่นเช่น เสื้อผ้า สะลี (ที่นอน) หมอน ผ้าต้วบ (ผ้าห่ม) ซิ่นแบบต่างๆ ได้แก่ ซิ่นหอมอ้วน ซิ่นตาล่อง ซิ่นแอ้ม ซิ่นตาตอบ ซิ่นลัวะ ซิ่นยาง ตลอดจนซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นการทอเพื่อนำมาต่อกับผ้าถุงหรือที่ชาวบ้านภาคเหนือ เรียกว่า “ซิ่น” นอกจากนี้ ยังมีผ้าที่ใช้เทคนิคการจก ในการตกแต่งลวดลายได้แก่ ผ้าเช็ด ผ้าพาด ผ้าหลบ (ผ้าปูที่นอน) และหน้าหมอนจก เป็นต้น ผ้าจกนับเป็นศิลปะการสร้างลวดลายบนผ้า ที่มีความเป็นอิสระในตัวเอง ซึ่งผู้ทอสามารถสร้างจินตนาการและแสดง ออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้มากที่สุด เช่นเดียวกับการวาดภาพและแต้มสีลงบนผืนผ้า ผลงานที่เกิดขึ้นจึงสามารถพัฒนาการไปได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ผ้าจกแม่แจ่มมีลักษณะเด่นในการสร้างผลงานของช่างผู้ทอ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งลายดั้งเดิม ซึ่งสามารถจัดแบ่งผ้าจกตาม ลักษณะลวดลายได้ดังนี้
1. ลวดลายอุดมคติ เป็นลวดลายที่สะท้อนความเชื่อในศาสนาออกมา เป็นรูปสัญลักษณ์อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา พบลวดลายลักษณะนี้ ในซิ่นตีนจกเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ รูปโคม ขัน น้ำต้น นาค หงส์สะเปา ที่ประกอบขึ้นเป็นซิ่นตีนจก นอกจากนี้ยังปรากฏ รูปขันดอก รูปหงส์ในผ้าป้าด (ผ้าพาดบ่า) หรือลายนาคในหน้าหมอน เป็นต้น
2. ลวดลายคนและสัตว์ ส่วนใหญ่พบในผ้าหลบสะลี (ผ้าปูที่นอน) ผ้าป้าด ได้แก่ รูปม้า ช้าง ไก่ ลา ลายเขี้ยวหมา ลายงูเตวตาง ลายฟันปลา และลายคน ในหน้าหมอน ได้แก่ รูปปู กบ เป็นต้น
3. ลวดลายพรรณพฤกษา พบในหน้าหมอนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ลายดอกจันทร์ กุดผักแว่น เป็นต้น
4. ลวดลายเปรียบเทียบสิ่งของใกล้ตัว เช่น ลายกุดตาแสง กุดพ่อเฮือนเมา กุดกระแจ กุดขอเบ็ด กุดสามเสา พบลวดลายเหล่านี้ในหน้าหมอน

ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม เป็นศิลปหัตถกรรมที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ มาแต่โบราณกาล อันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น และสร้างลวดลายขึ้นบนผืนผ้าด้วยการจก คือการสอดหรือควักเส้นฝ้ายสีต่างๆ ที่พุ่งสลับกันเป็นช่วงๆ เพื่อให้เกิดเป็นรูปและลวดลายต่างๆ ขึ้นมาโดยใช้ขนเม่น โลหะ หรือไม้ปลายแหลมเป็นเครื่องมือ
ผ้าตีนจกแม่แจ่ม นับเป็นงานหัตถกรรมที่ประณีต สวยงาม และมีเอกลักษณ์ ของ อ.แม่แจ่ม แม่ฝอยทอง สมบัติ นักอนุรักษ์ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ผู้ได้รับรางวัลด้านอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า “การอนุรักษ์ผ้าตีนจก ไม่ได้เกิดจากตัวข้าพเจ้าคนเดียว ทางชาวบ้านแม่แจ่มต่างร่วมแรงร่วมใจกัน เพราะทุกเส้นสายของลายผ้าคือทุกหยาดเหงื่อความทุ่มเทบนความภาคภูมิใจ ที่ได้อนุรักษ์ผ้าตีนจกไว้ให้ลูกหลาน และภูมิใจที่ได้นำผ้าตีนจกแม่แจ่มขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อปี 2547-2551 กว่าหลายสิบปีที่ แม่ได้ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ มุ่งมั่น พัฒนา และสร้างสรรค์ผ้าตีนจก ให้งดงามและคงเอกลักษณ์ไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ผ่านการสอน การบรรยายเพื่อส่งต่อภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน อีกทั้งยังเก็บรวบรวมผ้าตีนจกแม่แจ่ม สมัยก่อนสงครามจนถึง
ปัจจุบัน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น