ผวา!! รื้อระบบประหารชีวิต หวั่นใช้ตัดตอนกลุ่มค้ายา

จากการที่กรมราชทัณฑ์ ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษา ตัดสินประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาด รายหนึ่งวัย 26 ปี จากเหตุฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ เพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ นับเป็นการประหารชีวิตนักโทษด้วยการฉีดยาสารพิษรายที่ 7 ไทยมีการประหารชีวิตตั้งแต่ปี 2478 ถึงวันนี้ รวม 325 ราย
โดยระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 กำหนดให้ใช้วิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษปรับ ริบทรัพย์สิน- กักขัง -จำคุก และประหารชีวิต หลายประเทศยกเลิกโทษประหาร แต่ก็มีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน รวมถึงไทย ยังใช้อยู่
ด้านเจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชน ประจำพื้นที่ภาคเหนือ ระบุว่าไทยต้องคำนึงการลงนามปฏิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งระบุว่า หากครบ 10 ปี ยังไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นในประเทศ ให้ถือว่าการลงโทษแบบนี้ถูกยกเลิกไป ไทยไม่มีการบังคับโทษแบบนี้ตั้งแต่ปี 2552 กว่า 9 ปี เหตุใดจึงหยิบยกมาตรการดังกล่าวมาดำเนินการ หรืออาจเป็นจุดเริ่มที่ต้องพึ่งพาบทลงโทษในรูปแบบนี้ในอนาคต กับบางกลุ่มอาชญากร โดยเฉพาะด้านยาเสพติดผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าปฏิบัติการ “1386 ทั่วไทย ประชาชนปลอดภัยยาเสพติด” ตามแผนประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด ปี 2561ซึ่ง ป.ป.ส. สนธิกำลังร่วมกับตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้าน/ชุมชน เป้าหมายทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 – 20 เม.ย. 2561ซึ่งเป็นเป้าหมายจากการร้องเรียนและสืบสวน
จากข้อมูลจากฝ่ายยุทธศาสตร์ บก.ปส. ในปีงบ 2559 จับกุมได้ 456 คดี ยึดทรัพย์ได้ 346.67 ล้านบาท ในปีงบ 2560 จับกุมได้ 453 คดี ยึดทรัพย์ได้ 345.65 ล้านบาท และในปีงบ 2561 (1 ต.ค. 60–12 มี.ค. 61) จับกุมได้ 900 คดี ยึดทรัพย์สิน 39.50 ล้านบาท ไม่นับรวมมูลค่ายาเสพติดของกลางที่ยึดได้ระหว่าง 1 ต.ค.60–12 มี.ค.61 อีก เกือบ 4 พันล้านบาท ( ขณะนี้ในตลาดยาเสพติดนั้น ยาไอซ์ราคา กก.ละ 1 ล้านบาท เฮโรอีนกก.ละ 1 ล้านบาท ยาบ้าเม็ดละ 200 บาท และยาอี เม็ดละ 500 บาท )
บก.ปส. ยืนยันว่า การดำเนินการยึดหลักทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมีเป้าหมายหลักคือปัญหายาเสพติดในชุมชน ต้องลดระดับความรุนแรงลง และประชาชนมีความพึงพอใจ ในการปฏิบัติงานของภาครัฐ หน่วยในพื้นที่ปฏิบัติการเชิงรุก ในทุกคดี ภาพความรุนแรงที่ปรากฎเป็นข่าว ในการวิสามัญเกิดขึ้นจากการต่อสู้ และเจ้าหน้าที่ต้องป้องกันตัวทั้งสิ้นอดีต ผบช.ภ.5 ให้ความคิดเห็นแนวทางปราบปรามยาเสพติดในขณะนี้ ที่ภาคประชาสังคมหวั่นว่า อาจจะนำไปสู่กระบวนการตัดตอน จัดการที่รุนแรง และมีผลต่อภาพพจน์ในสายตาชาวโลก ก็ต้องทำความเข้า ใจว่า ปัญหายาเสพติดที่ไทยรับภาระ สิ้นเปลืองงบ บุคลากรในการป้องกันปราบปราม สถานการณ์ ยาเสพติดในปี 2561พื้นที่ภาคเหนือ ยังคงเป็นพื้นที่ลักลอบนำเข้ายาเสพติดหลัก และสามเหลี่ยมทองคำยังเป็นพื้นที่ผลิตใหญ่ทั้งยาบ้า ไอซ์ และเฮโรอีน ถ้าจับได้ 10 ล้านเม็ด ก็จะเพิ่มการผลิตเป็น 20-30 ล้านเม็ด จะเห็นว่าสถิติการจับกุมยาเสพติดสูงขึ้นทุกตัวทั้งยาบ้า ไอซ์ กัญชา และเฮโรอีน
ในความร่วมมือของประเทศสมาชิก ทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในลุ่มแม่น้ำโขง และพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ การจับกุมขบวนการลักลอบขน และเครือข่ายฟอกเงิน ต้องเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นปัญหานี้ ก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ได้เห็นด้วยกับการวิสามัญ แต่หน้างานนั้น ฝ่ายปฏิบัติการจะเป็นผู้กำหนด ต้องให้กำลังใจเขาเหล่านั้นด้วย เพราะเอาชีวิตไปเสี่ยงรอบด้าน
” บางทีคดีใหญ่ๆ มีเครือข่ายซับซ้อน ต้องใช้เวลาเกาะติดนานหลายๆปี กว่าจะคลี่คลายคดี พอเข้าไปอยู่ในคุกก็ไม่เข็ดหลาบ นี่ก็อาจเป็นแนวคิด อีกเหตุผลที่ระดับนโยบาย ตัดสินใจรื้อระบบประหาร ในช่วงที่ใกล้จะครบ 10 ปี ต้องยกเลิก ก็ติดตามดูผลการปฏิบัติการกัน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น