คพ.เอาจริง บังคับใช้กฎหมายแก้ปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่า ปรับรายละไม่เกิน2,000 บาทต่อวัน

กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ติดตามความคืบหน้า แก้ปัญหาน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษระบายน้ำทิ้งลงคลองแม่ข่า เกินค่ามาตรฐาน ร้อยละ 53 และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ คิดเป็นร้อยละ 47 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการปรับรายวัน ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อวัน และจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำคลองแม่ข่าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 – 2561 พบมีคุณภาพน้ำโดยรวมดีขึ้นแต่ยังอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ปัญหาน้ำเสียเกิดจากบ้านเรือน และสถานประกอบการ ส่วนใหญ่ระ บายน้ำทิ้งลงสู่คลอง

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. ได้จัดประชุมหารือหน่วยงานใน จ.เชียงใหม่ ได้แก่ สนง.สิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เชียงใหม่(สสภ.1 เชียงใหม่) และ สนง.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ และ อปท.ริมคลองแม่ข่า เพื่อกำหนดแนวทางบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย และลดการระบายน้ำทิ้ง จากแหล่งกำเนิดมลพิษลงคลองแม่ข่า สืบเนื่องจากผลการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ พบระบายน้ำทิ้งเกินค่ามาตรฐาน ร้อยละ 53 และเมื่อมีคำสั่งปรับปรุงแก้ไขแล้ว ยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษอีก คิดเป็นร้อยละ 47 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการปรับรายวันในอัตราสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อวัน
ที่ประชุมเห็นชอบให้หน่วยงานท้องถิ่น นำผลการตรวจสอบน้ำทิ้งของแหล่งกำเนิดมลพิษ และข้อมูลการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ โดยไม่มีเหตุอันควร ไปประกอบการพิจารณาต่อใบอนุ ญาต และกำหนดเงื่อนไขการบำบัดน้ำทิ้ง ผนวกไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตเพิ่มเติม และใช้มาตรการทางสังคมเชิงบวก เปิดเผยรายชื่อแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย และให้กรมควบคุมมลพิษ จัดส่งรายชื่อและผลการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ให้หน่วยงานงานท้องถิ่น เพื่อกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นางสุวรรณา กล่าวว่า คพ. พร้อม จนท.สสภ.1เชียงใหม่ ได้สำรวจคลองแม่ข่าตั้งแต่ต้นน้ำบริเวณเคหะป่าตัน กลางน้ำ และปลายน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิง โดย สสภ.1 เชียงใหม่ ได้รายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำในคลองแม่ข่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำคลองแม่ข่าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 – 2561 พบว่าคุณภาพน้ำโดยรวมดีขึ้นทุกจุด ยกเว้นบริเวณร่องกระแจะ ซึ่งรับน้ำเสียจากชุมชนที่อยู่กันอย่างหนาแน่น และบริเวณด้านหลัง รพ.ตาเซนต์ปีเตอร์ ซึ่งเป็นจุดรับน้ำเสียจาก ทต.ช้างเผือก พร้อมกันนี้ ได้ติดตามการปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษ ได้แก่ อาคารชุดขนาดใหญ่ และตลาด รวมทั้งดูการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย รวมของ ทน.เชียงใหม่ด้วย
พล.ท.ภาณุ โรจนวสุ รองนายก ทน.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทน.เชียงใหม่ ได้แก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น เร่งผันน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าสู่คลองแม่ข่า ขุดลอกคลอง และเพิ่มความจุของอ่างเก็บกักน้ำในพื้นที่ เพื่อให้สามารถระบายน้ำต้นทุนให้แก่คลองแม่ข่า รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายรื้อถอนอาคาร สถานที่ที่รุกล้ำพื้นที่คลอง และตรวจสอบสถานประกอบการ มิให้ปล่อยน้ำทิ้งที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดลงสู่คลองแม่ข่าโดยตรง
นายสมาน แก้วประดิษฐ์ รองนายก ทต.ป่าแดด กล่าวว่า ในส่วนของปลายน้ำบริเวณ ทต.ป่าแดด น้ำเสียมีกลิ่นเหม็นและขยะในน้ำ เป็นปัญหาหลักในพื้นที่ ทต.ป่าแดด และส่วนใหญ่เป็นน้ำเสียไหลมาจากบริเวณต้นน้ำ และกลางน้ำ ซึ่ง ทต.ป่าแดด ได้ทำการติดตั้งเครื่องเติมอากาศในคลอง และทำแพผักตบชวา เพื่อกรองน้ำเสียจากคลองแม่ข่าก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปิง
นางสุวรรณา กล่าวว่า คลองแม่ข่าสภาพโดยรวมดีขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ปัญหาน้ำเสียเกิดจากบ้านเรือน และสถานประกอบการส่วนใหญ่ ระบายน้ำทิ้งลงสู่คลองแม่ข่าโดยไม่ผ่านการบำบัดหรือบำบัดยังไม่ได้มาตรฐาน มีการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงคลองโดยตรง รวมทั้งท่อรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาล ยังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ให้บริการ ในส่วนของแหล่งกำเนิดน้ำเสียก็พบปัญหาส่วนใหญ่ไม่มีผู้ดูแลระบบเป็นประจำ จ้างช่างมาดูแลเป็นครั้งคราว และไม่ได้รวบรวมน้ำเสียจากทุกกิจกรรมเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย
ซึ่งการแก้ไขปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่า จะต้องจัดการน้ำเสียที่ต้นทางควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ให้แหล่งกำเนิดมลพิษมีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดให้มีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียครอบคลุมพื้นที่ทั้งบริเวณต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในระยะต่อไป เพื่อเพิ่มประสิทธิ ภาพการจัดการน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ คพ. จะจับมือกับ ทน.เชียงใหม่ บูรณาการบังคับใช้กฎ หมายร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ
โดย ทน.เชียงใหม่ จะแจ้งข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ให้กับ คพ. พร้อมทั้งจะเชื่อมโยงข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ของแหล่งกำเนิดมลพิษประกอบการอนุมัติ อนุญาต แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่สำคัญที่สุดในการพลิกฟื้นคลองแม่ข่า ให้กลับมีคุณภาพที่ดีขึ้น ก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน ที่จะช่วยกันรักษาคุณภาพน้ำ และลดการระบายน้ำเสียลงสู่คลองแม่ข่าให้น้อยลง

ร่วมแสดงความคิดเห็น