ตามรอยเกษตรพอเพียง ดร.เทียม โชควัฒนา

โครงการเกษตรพอเพียง ดร.เทียม โชควัฒนา ก่อตั้งขึ้นภายในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ลำพูนเมื่อปี พ.ศ.2555 โดยได้ดำเนินโครงการ “ทฤษฏีใหม่” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นโครงการที่เหมาะสมต่อวิถีชีวิตของคนไทย และยังเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของผู้ที่สนใจ มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสืบสานให้ดำรงอยู่และสามารถนำมาแสดงให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปศึกษาค้นคว้าแล้วนำมาต่อยอดจนเกิดเป็นรายได้เข้าสู่ชุมชนอีกด้วยดร.เทียม โชควัฒนาได้กล่าวไว้ว่า “ชีวิตของคนที่เคยทำงานต่างๆนั้นเปรียบดั่งต้นไม้นานาพันธ์ บางพันธ์ก็โตช้า บางพันธ์ก็โตเร็ว เราต้องมีความอดทน ในการจะสร้างคนแม้ต้องใช้เวลา 10 ปี เพื่อให้ได้คนดีก็ยินดี ปลูกต้นไม้ใหญ่ใช้เวลานับ 100 ปี สร้างคนดีใช้เวลา 10 ปี” โดยใช้หลักเกษตรพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มุ่งเน้นความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
ความเข้าใจคือ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ในวิถีชีวิตของธรรมชาติ รักษาสมดุลของการทำมาหากินโดยไม่เอาเปรียบธรรมชาติ ปกป้องรักษาภูมิปัญญาของท้องถิ่นซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ธรรมชาาติที่มีค่าอย่างยิ่ง การเข้าถึงคือ เข้าถึงสมดุลของชีวิตและวิถีประเพณีของคนไทย เข้าถึงสมดุลของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทรัพยากรเพื่อรักษาคงไว้ให้ยั่งยืน และการพัฒนาคือ ต่อยอดภูมิปัญญาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสมดุลชีวิตและสมดุลสิ่งแวดล้อมให้ภาคอุตสาหกรรมเคียงคู่กับภาคเกษตรกรรม สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อรวบรวมองค์ความรู้แนวทางการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างในความพอเพียง นี่คือปรัชญาอันที่จุดเริ่มต้นที่มาของโครงการเกษตรพอเพียงในปัจจุบัน

โครงการเกษตรพอเพียง ดร.เทียม โชควัฒนา ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ในบริเวณเดียวกับระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้น้ำเสียจากอุตสาหกรรมที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ในการเกษตรและยังเป็นการจัดการน้ำโดยไม่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นการลดปัญหาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จากการดำเนินงานโครงการเกษตรพอเพียงจะเห็นได้ว่าน้ำเสียจากอุตสาหกรรมที่ผ่านการบำบัดให้ผ่านมาตราฐานกรมโรงงานอุตสาหกรรมนั้นสามารถนำมาใช้ในภาคการเกษตรของพื้นที่โครงการฯโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันการดำเนินงานภายในโครงการเกษตรพอเพียง ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นพื้นที่ในการปลูกพืช โดยได้ทอลองปลูกข้าวบนพื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งมีทั้งข้าวนาปรัง ข้าวนาปี เพื่อเป็นการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ของโครงการฯ โดยได้มีการเลือกพันธุ์ข้าวทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ได้แก่ข้าวหอมนิล ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวสังข์หยด ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวปทุมธานี 1 และข้าว กข.6 นอกจากนั้นยังมีการปลูกพืชประเภทอื่นๆในรูปแบบของการทำเกษตรแบบผสมผสาน ได้แก่ ดอกทนตะวัน ดอกอัญชัน กระเจี๊ยบ แก้วมังกร ข้าวโพด มันเทศ มะนาว ซึ่งปัจจุบันทางโครงการฯได้ทอลองปลูกมะนาวนอกฤดูกาลพันธู์แป้นพิจิตรและมะนาวตาฮิติ เป็นสายพันธุ์ที่ทนต่อโรค มีผลผลิตดก ลูกโต โดยได้คำนึงถึงความต้องการของตลาด ราคาพืชผล ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบสวนอุตสาหกรรมอีกทางหนึ่ง และทาง
โครงการฯยังได้จัดทำสมาร์ทฟาร์มโรงเรือนปลูกเมลอน

ในส่วนของพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ ทางโครงการเกษตรพอเพียงฯ ได้ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว ไก่ เป็ด ห่าน ปลา โดยได้พิสูจน์ให้เห็นว่าน้ำเสียที่ปล่อยออกจากโรงงานและผ่านการบำบัดปรับปรุงคุณภาพแล้วนั้น สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นทางโครงการฯยังได้ทดลองเลี้ยงผึ้ง เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศให้กับพื้นที่ของโครงการฯอีกด้วย
ด้านการกระจายผลิตผลสินค้าที่เกิดจากโครงการนั้น ได้มีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าการเกษตรให้กับพนักงานเครือสหพัฒน์และชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสวนอุตสาหกรรม ปัจจุบันผลผลิตดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางโครงการฯจึงมีนโยบายในการเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าให้มากขึ้น โดยได้ประสานเชื่อมโยงกับโครงการพระราชดำริฯต่อไปในอนาคตนอกจากนั้นโครงการเกษตรพอเพียง ดร.เทียม โชควัฒนา จะทำเกษตรกรรมแบปลอดสารพิษแล้ว ที่นี่ยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานและให้ความรู็้แก่ผู้สนใจให้มาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะทางโครงการได้ส่งเสริมให้โรงเรียนในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ ปลูกข้าว ทำปุ๋ยหมัก ปลูกพืชผักต่างๆรวมถึงยังมีการแจกพันธุ์สัตว์ต่างๆ เพื่อให้ชุมชนได้นำไปขยายพันธุ์ต่อยอดอีกด้วย ขณะเดียวกันภายในโครงการฯยังเปิดร้านค้าพอเพียง เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรแบบปลอดสารเคมีและได้ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยนำผลผลิตของชุมชนโดยรอบพื้นที่โครงการมาร่วมจำหน่ายเพื่อก่อเกิดรายได้อีกด้วย ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่โครงการเกษตรพอเพียง ดร.เทียม โชควัฒนา ได้ดำเนินงานมานั้นนับเป็นตัวอย่างของการทำเกษตรทฤษฏีใหม่หรือเกษตรผสมผสาน ที่ประสบผลสำเร็จและสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืนและมั่งคง

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น