ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 พัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตชุมชนในพื้นที่สูง

ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 จัดโครงการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตชุมชนในพื้นที่สูง 2561 โดยมีนายแพทย์มนตรี นามมงคล ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 เป็นประธานกล่าวเปิด โครงการฯ นายวงค์พรรณ์ มาลารัตน์ นักกิจกรรมบำบัดชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสุขภาพจิต กล่าวรายงาน ณ โรงแรมเมอร์เคียว เชียงใหม่ วันที่ 25 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา
นายแพทย์มนตรี นามมงคล ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 1 มีพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งแต่ละจังหวัดมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบและภูเขาสูงซึ่งมีประชาชนชาติพันธ์อาศัยอยู่ในทุกจังหวัด จากทำเนียบชุมชนพื้นที่สูงประจำปี พ.ศ.2559 ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 มีประชากรบนพื้นที่สูงจำนวนมากที่สุด คือ 944,966 คน คิดเป็นร้อยละ 65 ของประชากรพื้นที่สูงทั้งหมดในประเทศไทย และจำนวนประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี
ในอนาคตประชาชน ชนเผ่าจึงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะในแรงงานภาคการเกษตร ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ริเริ่มดำเนินการในกลุ่มชนเผ่าต่างๆในพื้นที่สูง เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อกลุ่มพี่น้องชนเผ่าต่างๆรวมทั้งประชาชนวัยทำงานในพื้นที่ราบที่ต้องอาศัยกำลังแรงงานจากชาวชนเผ่า
โดยโครงการนี้ได้ศึกษาและพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้เหมาะสมกับบริบทของชนเผ่าให้มีความเข้มแข็งทางใจเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะนำมาซึ่งการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่นในครอบครัวชุมชน และลดปัญหาการฆ่าตัวตาย และปัญหาทางด้านสุขภาพจิตอื่นๆ

อาจารย์ผู้วิพากย์ ดร.สุดา วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์สมพร อินทร์แก้ว หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดโครงการในครั้งนี้ และขอขอบคุณ อสม. และ บุคลากรสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และคณะทำงานทุกท่าน

 

นายวงค์พรรณ์ มาลารัตน์ นักกิจกรรมบำบัดชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสุขภาพจิต กล่าวว่า พื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 มีประชากรบนพื้นที่สูงจำนวนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 65 ของประชากรพื้นที่สูงทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงาน การส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่สูงจะแตกต่างกับประชาชนพื้นที่ราบ ด้วยประชาชนพื้นที่สูงยังคงมีปัญหาด้านต่างๆ อาทิ ปัญหาด้านคุณภาพชีวิต ปัญหาการได้รับสัญชาติไทย ปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การคมนาคมที่ไม่สะดวก นำไปสู่ปัญหาความขาดแคลน ความเป็นธรรม และโอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่สูงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนชาติพันธ์ เช่น ปัญหาความเครียดซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย ปัญหายาเสพติด ที่เพิ่มขึ้นในทุกปีจากการสำรวจสุขภาพจิตของชนเผ่าม้ง อาข่า และกะเหรี่ยง ของศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 เบื้องต้นพบว่ามีความเครียดอยู่ในระดับมาก – รุนแรง ร้อยละ 12 -34 มีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 12 -25 และมีความคิดฆ่าตัวตาย ร้อยละ 1.5 – 6.7
ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพจิตและปัองกันปัญหาสุขภาพจิตให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา จึงได้ พัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้เหมาะสมกับบริบทของชนเผ่า โดยการสำรวจปัญหา ปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยปกป้อง และวางแผนพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้ตรงตามปัญหาความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่

การจัดประชุมฯ ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม จำนวน 25 คน ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตและงานสุขภาพภาคประชาชนในระดับจังหวัด เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขระดับอำเภอ และเครือข่าย อสม.จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และประชาชนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมโดยมีอาจารย์ผู้วิพากย์ ดร.สุดา วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์สมพร อินทร์แก้ว เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสิทธิผลของนวัตกรรมและหาข้อสรุปในการพัฒนานวัตกรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น