แม่โจ้โพลล์ชี้ “คนไทยร้อยละ 97.46 บอกยาเสพติดเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศ และร้อยละ 67.20 เชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาของภาครัฐ”

ปัญหายาเสพติดเป็นภัยที่ร้ายแรงในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีการแพร่ระบาดและขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมากขึ้น จากข้อมูลสถิติการจับกุมยึดยาบ้าลักลอบลำเลียงต่อครั้งในปี 2560 พบว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเม็ด และจำนวนกว่า 54 คดี สามารถยึดยาบ้าได้ 147.5 ล้านเม็ด ซึ่งมากกว่ายาบ้าที่จับยึดได้ในช่วงปี 2556-2559 รวมกัน
โดยมีรูปแบบการแพร่กระจายที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งกลุ่มเยาวชนถือเป็นกลุ่มที่มีโอกาสติดยาเสพติดมากกว่ากลุ่มคนกลุ่มอื่น เนื่องจากความอยากรู้อยากลอง และความคึกคะนองเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งสภาพแวดล้อม สื่อ และค่านิยมต่างๆ เป็นแรงผลักดัน ประกอบกับสถานการณ์ราคายาเสพติดที่ลดลง ส่งผลให้หาซื้อยาเสพติดประเภทต่างๆ ได้ง่าย แม้ที่ผ่านมาจะได้มีการกำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับพบว่าสถานการณ์เชิงตัวยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของไอซ์ คีตามีน เฮโรอีน และโคเคน ก่อให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นมามากมาย ทั้งปัญหาต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้เสพ รวมถึงผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ ของประเทศชาติ
ดังนั้นศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยาการณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,024 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-22 มิถุนายน 2561 ในหัวข้อ “สถานการณ์ยาเสพติดภัยร้ายแรงในสังคมไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยในมิติของภาคประชาชน โดยมีผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่  ร้อยละ 97.46 เห็นว่ายาเสพติดเป็นภัยร้ายแรงของสังคมไทยในปัจจุบัน มีเพียงร้อยละ 2.54 ที่คิดเห็นว่ายาเสพติดอาจจะไม่เป็นภัยร้ายแรง
จากการสอบถาม พบว่า กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดและสารเสพติดมากที่สุด (ร้อยละ 58.79) รองลงมาคือ กลุ่มผู้ว่างงาน (ร้อยละ 47.56) กลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 47.07) กลุ่มศิลปิน, ดารา, นักร้อง (ร้อยละ 40.33) กลุ่มเกษตรกร (ร้อยละ 13.18) นอกจากนั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.84 ทราบว่ามีการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ โดยพบว่ามีการแพร่ระบาดของยาบ้ามากที่สุด (ร้อยละ 55.47) รองลงมาคือ กัญชา (ร้อยละ 23.47) ไอซ์ (ร้อยละ 16.41) กระท่อม (ร้อยละ 9.67) เฮโรอีน (ร้อยละ 4.20) โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียง ร้อยละ 39.16 ที่ไม่ทราบว่ามีการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่
สำหรับสาเหตุการแพร่ระบาดของยาเสพติดในสังคมไทยปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.73 คิดว่าเป็นเพราะมาตรการทางกฎหมายและบทลงโทษที่ยังไม่เด็ดขาด รองลงมา คือ การเข้าไปมีผลประโยชน์ร่วมกันของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ คนมีชื่อเสียง ผู้มีอิทธิพลที่เข้ามาเกี่ยวข้องในขบวนการยาเสพติด (ร้อยละ 56.74) การปฏิบัติงานและบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ดีพอ (ร้อยละ 55.27) และสภาพสังคมที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความเครียดและยังมีผู้ต้องการใช้ยาเสพติดจำนวนมาก (ร้อยละ 42.48)
ส่วนแนวทางการที่จะสามารถช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่จะยุติ/เฝ้าระวัง/ปราบปราม เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 83.79 คือ การไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับขบวนการยาเสพติด (ไม่ซื้อ/ไม่ขาย) รองลงมา คือ การสอนบุตรหลานให้ความรู้ห่างไกลยาเสพติด (ร้อยละ 71.09) และเป็นหู เป็นตา เฝ้าระวังให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ในการสอดส่องดูแลภายในชุมชน (ร้อยละ 44.53)
สำหรับข้อเสนอแนะต่อวิธีการที่จะสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืนและหมดไปจากสังคมไทย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.98 คิดว่ารัฐบาลควรเอาจริงเอาจังต่อการปราบปรามปัญหายาเสพติดให้เด็ดขาด รองลงมา คือ รัฐบาลต้องมีการปรับเปลี่ยนมาตรการบทลงโทษให้หนักมากขึ้น (ร้อยละ 62.79) สถานศึกษาควรให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้รู้ทันถึงโทษภัยจากยาเสพติด โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษากลุ่มเสี่ยง (ร้อยละ 52.93)
สำหรับความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.20 ค่อนข้างมั่นใจต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล รองลงมา คือ ไม่ค่อยมั่นใจ และไม่มั่นใจ ร้อยละ 32.80
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องปัญหายาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย โดยประชาชนค่อนข้างมั่นใจต่อแนวนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการในการแก้ไขปัญหา โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการสร้างความเข้าใจให้รู้ถึงโทษภัยของยาเสพติด และรู้เท่าทันยาเสพติด รวมไปถึงการเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างถูกวิธีจากผู้เชี่ยวชาญภายใต้การดำเนินงานโครงการ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจเยาวชนสมาชิกใครติดยายกมือขึ้นตามแนวทางพระราชดำริโครงการ TO BE NUMBER ONE ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
ที่มา : ระบบ NCR และระบบติดตามและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด

ร่วมแสดงความคิดเห็น