กรมสุขภาพจิตใช้ “ 10 แนวทาง” ดูแลฟื้นฟูทีมฟุตบอลหมูป่า

กรมสุขภาพจิต ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญ ด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ทั้งในและนอกสังกัด จัดแผนฟื้นฟูเด็กและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ภายหลังออกมาจากถ้ำอย่างดีที่สุด รวมทั้งครอบครัว โดยใช้ 10 แนวทางดูแล อาทิ การเสริมทักษะเพิ่มภูมิคุ้มกันทางใจ การช่วยให้เกิดการทบทวนและเรียนรู้จากเหตุการณ์ เพื่อการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท เยียวยาจิตใจครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในถ้ำหลวงฯ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อย่างใกล้ชิด
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแผนความพร้อมในการดูแลฟื้นฟูด้านจิตใจของทีมฟุตบอลหมูป่า พร้อมโค้ชรวม 13 คน หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือออกมา นอกถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า แผนการดูแลฟื้นฟูจิตใจของทีมหมูป่าที่ประสบภัยติดถ้ำครั้งนี้ จะมีความแตกต่างจากภัยพิบัติหรือสาธารณภัยที่ผ่านมา เพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจทั้งผู้ประสบภัยและครอบครัวเป็นหลัก โดยได้ประชุมผู้เชี่ยวชาญของกรมสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และอาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และทีมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อระดมสมองวางแผนการดูแลจิตใจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติทางใจ ให้เด็กสามารถปรับตัวได้เป็นปกติหรือดีกว่าเดิม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลสรุปการประชุมได้กำหนด 10 แนวทางดูแล ดังนี้ 1. การประเมินสภาพจิตใจและให้การแก้ไขป้องกันโดยเร็ว 2. จัดกิจกรรมให้เกิดการผ่อนคลายและการปรับใจให้สงบ 3. ช่วยปรับความคิดและอารมณ์ด้านลบ ที่เกี่ยวข้องกับการติดในถ้ำ 4. เสริมทักษะและสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ เพิ่มความเข้มแข็งทางจิตใจ 5. ช่วยให้เกิดการทบทวนและเรียนรู้จากเหตุการณ์ เพื่อการปรับตัวที่ดีขึ้น 6. ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มช่วยเหลือกันเอง 7. ช่วยวางแผนชีวิตอนาคต 8. เตรียมการกลับสู่การเรียน 9. การเตรียมการกลับสู่ชุมชน และ 10. การเตรียมการตอบสนองต่อสังคมรอบข้าง
ทั้งหมดนี้จะเป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่าง ทีมจิตแพทย์ของ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ กับหน่วยงานเชี่ยวชาญของกรมสุขภาพจิต 3 แห่ง ใน จ.เชียงใหม่ คือ รพ.สวนปรุง ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1และสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ โดยมี นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.รพ.สวนปรุง เป็นประธาน ทั้งนี้จะมีการติด ตามประเมินผลแนวทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเป็นจริง
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ในวันนี้ได้มอบหมายให้ นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางไปติดตามการจัดบริการของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ซึ่งขณะนี้ยังคงปักหลักบริการดูแลครอบครัวที่มาเฝ้ารอทีมฟุตบอลหมูป่า ที่บริเวณหน้าถ้ำหลวงฯตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามวันนี้มีผู้ปกครองบางคนเกิดอาการเครียด หลังจากที่มีนายทหารเสียชีวิต 1 นาย ระหว่างปฏิบัติงานนำถังออกซิเจนไปวางตามจุดต่างๆภายในถ้ำ ซึ่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ได้ให้การดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว ขณะเดียวกันวันนี้จะส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ให้การดูแลจิตใจของครอบครัวของทหารที่เสียชีวิต จากการปฏิบัติหน้าที่รายนี้อย่างดีที่สุดด้วย
ทางด้าน นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการดำเนินการดูแลตาม 10 แนวทางที่กล่าวมา จะแบ่งเป็น 3 ระยะ ช่วงที่อยู่ใน รพ. หลังออกจาก รพ.ถึง 3 เดือน และระยะ 6 เดือน ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้โดยทีมสุขภาพจิตของเชียงราย แต่อาจมีบางวิธีที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ของกรมสุขภาพจิตร่วมด้วย
โดยในวันนี้คณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย และกรมสุขภาพจิต ได้ประชุมร่วมกับทีมสุขภาพของ จ. เชียงราย เพื่อพิจารณาแนวทางในพื้นที่จริงที่ อ.แม่สาย ในระหว่างที่เด็กยังอยู่ภายในถ้ำ ผู้เชี่ยวชาญได้มีข้อแนะนำการดูแลจิตใจเด็ก โดยผ่านทางหน่วยซีลที่อยู่กับเด็ก เพื่อปรับให้เด็กคืนสู่สภาพปกติเมื่อออกมาภายนอกถ้ำ เช่น การแจ้งวันเวลาให้เด็กทราบทุกวัน การดูแลการนอนให้ตรงกับเวลาภายนอกถ้ำ จัดกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ร้องเพลง วาดภาพ ทำสมาธิ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น